ข้อเสนอ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?

“…เรื่องนี้ (บำนาญถ้วนหน้า) เป็นไปได้ แต่ต้องหารายได้มาจ่ายตรงนี้ แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปงบประมาณ และการใช้ระบบภาษีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลดลง เราไม่มีเงินมาทำแน่นอน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ทางการคลังที่เราเป็นอยู่ ไหนจะค่าใช้จ่ายข้าราชการ งบจ่ายหนี้และหนี้เราก็สูง…”

…………………………………………

ในห้วงการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ที่จะมีขึ้น ‘ช้าสุด’ ไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 

นโยบาย ‘บำนาญประชาชน’ หรือ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ สำหรับผู้สูงอายุหรืออายุ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท เป็นหนึ่งในนโยบายที่บรรดาพรรคการเมืองใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หลังจากก่อนหน้านี้องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน และกลุ่มนักวิชาการ ได้ร่วมกันผลักดันนโยบายนี้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว

“เพื่อผลักดันให้บำนาญถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริง ในช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆกำลังจะหาเสียงเลือกตั้ง เครือข่ายฯ ได้ทำแคมเปญว่า ให้เลือกผู้แทนที่พร้อมทำเรื่องบำนาญถ้วนหน้า” นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวในการแถลงข่าว ‘ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญพรรคการเมือง’ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี มีคำถามสำคัญว่า ในการผลักดันนโยบาย ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ไปสู่การปฏิบัติจริงนั้น ประเทศต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่เพื่อการนี้ และจะหาเงินมาจากแหล่งใดได้บ้าง?

@ผลวิจัยฯชี้ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท ใช้เงิน 4 แสนล้าน/ปี

“ถ้าจะเปลี่ยนจากการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอัตราไปปัจจุบัน ไปเป็นบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท จากที่คำนวณไว้คาดว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้าน/ปี สำหรับผู้สูงอายุที่มีประมาณ 10 ล้านคน” ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)

ทีปกร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะวิจัยโครงการ ‘การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลดระทบของ Covid-19 ต่อผู้สูงอายุ’ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งระบบบำนาญถ้วนหน้า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีการหารายได้เพิ่มเพื่อนำมาจ่ายในส่วนนี้ ได้แก่

ส่วนแรก การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ลดขนาดกองทัพ ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นที่ทราบกับอยู่แล้วว่า เขาไม่ขายเครื่องยนต์ให้ แต่ก็พยายามจะทำกันให้ได้ และการลดงบอีกสารพัดที่มีปัญหาการทุจริตมากมาย ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิรูปงบประมาณในเรื่องเหล่านี้ให้ได้

b 15 01 23 4(ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย)

@เสนอรัฐ ‘ปฏิรูปภาษี’ หาเงินสนับสนุนระบบ ‘บำนาญแห่งชาติ’

ส่วนที่สอง การลดสิทธิประโยชน์ภาษีบีโอไอ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเสียโอกาสในการเก็บภาษีส่วนนี้ปีละแสนล้าน และจากจริงๆแล้ว มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปัจจัยดึงดูดนักลงทุนที่สำคัญ คือ เรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจ การไม่ต้องมีกฎหมายหรือขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีแรงงานที่มีทักษะที่เขาต้องการ เป็นต้น

“การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (บีโอไอ) มันช่วยได้ แต่ไม่สำคัญขนาดนั้น และไม่คุ้มเลยกับการที่เราไปทำให้เขาได้ยกเว้นภาษี หรือแม้กระทั่งการเก็บภาษีตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งเก็บเป็นส่วนน้อยเหลือเกิน แต่ก็ยังคัดค้าน ทั้งๆมันเป็นไปการยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มคนที่อยู่บนยอดพีระมิด เราจึงต้องไปเก็บตรงนั้นให้ได้” ทีปกร กล่าว

ส่วนที่สาม การเพิ่มอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่า อัตราภาษีดังกล่าวต่ำเกินไป อีกทั้งมีช่องว่างอยู่มาก เช่น การนำที่ดินมูลค่าเป็นหมื่นล้านมาทำเป็นแปลงเกษตร หรือนำที่ดินไปทำเรื่อง CSR (กิจกรรมเพื่อสังคม) เพื่อพีอาร์ แต่จุดประสงค์จริงๆ คือ ทำเพื่อทำให้ได้ยกเว้นภาษีหรือได้รับการลดหย่อนภาษี

“คนที่เป็นเจ้าของที่ดินมากๆ เป็นแลนด์ลอร์ดของประเทศ คนเหล่านี้ควรถูกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ต้องมีการภาษีความมั่งคั่ง เช่น พวกที่มีทรัพย์สินสุทธิมากๆ เก็บภาษี capital gain และการลดค่าลดหย่อนซื้อกองทุน LTF หรือรวมๆแล้ว คือ การปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รัฐควรต้องเข้าไปจัดการตรงนั้น เพื่อให้มีเงินมาทำสวัสดิการ” ทีปกร ระบุ

ส่วนที่สี่ การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำได้ค่อนข้างเร็ว แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก และเพื่อลดการต่อต้าน ควรระบุวัตถุประสงค์ภาษีให้ชัดเจน (Earmarked) ว่า จะเอาไปทำบำนาญฯให้ประชาชน ไม่ใช่จัดสรรไปซื้ออาวุธหรือทำเรื่องอื่นๆ และเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย ต้องใช้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำเรื่อง Earmarked Tax

“เรื่องนี้ (บำนาญถ้วนหน้า) เป็นไปได้ แต่ต้องหารายได้มาจ่ายตรงนี้ แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปงบประมาณ และการใช้ระบบภาษีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลดลง เราไม่มีเงินมาทำแน่นอน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ทางการคลังที่เราเป็นอยู่ ไหนจะค่าใช้จ่ายข้าราชการ งบจ่ายหนี้และหนี้เราก็สูง” ทีปกร ระบุ

 

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค