ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะชดเชยเพิ่มหรือไม่ ‘ดร.ยุพดี’ หนุนขยับเพดานเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับภาคประชาชนและเครือข่ายต่างๆ ที่กำลังผลักดันให้รัฐบาลจ่ายชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวว่า การจ่ายชดเชยเยียวยาตามประกาศของ บอร์ด สปสช. ที่กำหนดเพดานไว้สูงสุดกรณีเสียชีวิตไม่เกิน 4 แสนบาทนั้น เป็นไปตามหลักการตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งมุ่งเน้นที่จะชดเชยเยียวยาเบื้องต้นอย่างรวดเร็วทันท่วงที แต่ไม่ได้เป็นการชดเชยแบบเต็มกำลังทั้งหมด วงเงินจึงไม่ได้สูง

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการชดเชยตามมาตรา 41 ครอบคลุมผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทุกคน ซึ่งก็จะมีคณะอนุกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณา แต่ถ้ามองถึงการเพิ่มเพดานเงินชดเชยได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและการเพิ่มงบประมาณของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

“นอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว ยังต้องพูดถึงเรื่องของระบบที่จะมาดูแลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนอีกด้วย เพราะผลข้างเคียงอาจนำไปสู่ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีร้ายแรงที่สุดคือเสียชีวิต แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เพื่อความรอบคอบก็อยากจะให้มีการสร้างระบบขึ้นมาดูแลด้วย” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวอีกว่า จากที่ได้มีการเปรียบเทียบเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นต่อครอบครัวในประเทศอื่นๆ นั้น พบว่ามีหลายบริบท โดยขณะนี้สิงคโปร์ให้เงินเยียวยา 5.25 ล้านบาท มาเลเซียให้เงินเยียวยา 3.7 ล้านบาท สำหรับประเทศไทยคิดว่าเป็นเรื่องของข้อจำกัดด้านงบประมาณและความตระหนักต่อปัญหา

“เชื่อว่าทางรัฐบาลก็คงจะรับฟังข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานใดเสนอว่าควรรัฐจะทำอะไร ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะนำเสนอว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบอะไร เพื่อนำไปต่อยอดในเรื่องของเงินชดเชยให้กับผู้ป่วยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น” ผศ.ภญ. ยุพดี กล่าว

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค