ข้อควรรู้จาก “อุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว (pulse oximeter)”

ข้อควรรู้จาก “อุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว (pulse oximeter)” ฉลาดซื้อสรุปจาก Consumerreports มาให้อ่านอีกครั้ง (ลิ้งค์อ่านบทความต้นฉบับอยู่ด้านล่างค่ะ)
– เครื่องที่เขาให้เราสั่งซื้อมาใช้เองได้นั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ทำมาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ จึงไม่ได้ผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้นเท่ากับชนิดที่ใช้ในโรงพยาบาล
– โดยทั่วไป ถ้าค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 92% ถือว่าน่าเป็นห่วง แต่สำหรับคนที่ใช้เครื่องวัดนี้ที่บ้าน อย่าเพิ่งตื่นเต้นกับตัวเลขที่ปรากฏ ลองทำซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อดูว่า ค่าที่วัดได้มีแนวโน้มว่าอาการปกติหรือน่าเป็นห่วง
– อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการตัดสินใจโดยอาศัยตัวเลขดังกล่าว ต้องทำโดยการปรึกษาแพทย์ก่อนเท่านั้น แม้แต่ผลจากเครื่องวัดฯ ระดับที่ใช้ในโรงพยาบาลก็ยังต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย
– ที่สำคัญ มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบากก่อนที่เครื่องดังกล่าวจะแสดงค่าระดับออกซิเจนที่ต่ำเกินไปด้วย
– สิ่งที่ผู้ติดเชื้อต้องคอยสังเกตเป็นหลักได้แก่ อาการไข้ อัตราการหายใจ การเต้นของชีพจร อาการไอ หรือความรู้สึกเหนื่อยง่ายกับสิ่งที่เคยทำเป็นประจำได้อย่างสบายๆ หรือเปล่า ใครจะวัดค่าออกซิเจนในเลือดด้วยก็ไม่ว่ากัน
– แล้วอุปกรณ์ฟิตเนสที่วัดความเข้มข้นของออกซิเจนจากข้อมือล่ะ? เรื่องนี้ทั้ง Fitbit และ Garmin ตอบมาแล้วว่า อุปกรณ์ของเขาไม่เหมาะจะใช้วัดเพื่อการนี้นะจ๊ะ
– แล้วมีวิธีอื่นไหม? ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าถ้ามีนาฬิกาก็เป็นอันใช้ได้ หากต้องการรู้อัตราการหายใจก็นับจำนวนครั้งที่หายใจในช่วงเวลา 30 วินาทีแล้วคูณ 2 หรือถ้าต้องการรู้ชีพจรก็ใช้สองนิ้วแตะลงไปบนข้อมือด้านใน นับดูว่ามันเต้นกี่ครั้งต่อ 15 วินาที แล้วคูณด้วย 4 เป็นต้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก Freepik.com
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค