ถึงมีระบบหลักประกันฯ แต่ผู้ป่วยยังต้องบอบช้ำกับ ‘ค่าใช้จ่ายแฝง’ ทำความรู้จัก ‘กองทุน นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ’ เพื่อผู้ป่วยยากไร้

แม้ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประกอบไปด้วย 3 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลของคนไทยเกือบทั้งประเทศ

แต่ทว่ากลับมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ถึงแม้จะเข้าถึงการรักษาตามสิทธิที่ควรจะได้ กลับยังต้องกุมขมับกับค่าใช้จ่ายที่งอกเงยขึ้นระหว่างการเดินทางมายังสถานบริการ

ขณะเดียวกัน การมาโรงพยาบาลอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายสูญเสียรายได้-เสียโอกาสในประกอบวิชาชีพ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางรายอาจจะต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อใช้เป็นค่าเดินทาง หรือใช้เป็นเงินติดตัวสำหรับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย

นอกเหนือไปจากการรักษาโรคหลักที่ผู้ป่วยควรจะได้รับตามสิทธิประโยชน์ที่พึงมีแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้นั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หลายๆ โรงพยาบาลในประเทศไทย ก็มีการจัดตั้งมูลนิธิของโรงพยาบาล รวมไปถึงกองทุน เพื่อระดมทุนบริจาคสำหรับผู้ป่วยยากไร้เพื่อเป็นการช่วยเหลือ-แบ่งเบา-เติมเต็ม ให้กับผู้ป่วยที่อาจจะมีอุปสรรค หรือปัญหาในการเข้าถึงบริการบางอย่างนอกเหนือจากสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพ

“The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ “ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ” อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้จัดตั้ง “กองทุน นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ เพื่อผู้ป่วยยากไร้” และ “กองทุนพัฒนาการดูแลผู้ป่วยนรีเวชระบบปัสสาวะ” สองกองทุนสำคัญที่ช่วยดูแล-แบ่งเบา ช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการบางอย่างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากยุค ‘สังคมสงเคราะห์ สู่การให้สิทธิการรักษา’

นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีอยู่หลายระบบ ผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง รวมถึงกลุ่มที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพรายปี บัตรผู้สูงอายุ เป็นต้น ทว่าก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาตามที่ควรจะได้รับ

ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้เกิดหน่วยงานที่เรียกว่า “สังคมสงเคราะห์” ขึ้นมา เพื่อจัดสรรเงินรายได้ของโรงพยาบาล โดยจะมีเงินอยู่ส่วนหนึ่งที่ถูกใส่ไว้ในกองทุนสำหรับช่วยในงานสังคมสงเคราะห์

แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค แนวความคิดเรื่องสังคมสงเคราะห์จึงเปลี่ยนไป เพราะปรัชญาของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ระบุว่า คนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิในการรักษาพยาบาล ฉะนั้นงานสังคมสงเคราะห์จึงไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกต้องในการที่จะดูแลผู้ป่วยในส่วนนี้

“เพราะทุกคนได้รับสิทธิการรักษาแล้ว งานสังคมสงเคราะห์จึงกลายเป็นหน่วยสิทธิประโยชน์ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่รู้สิทธิของตัวเอง เข้ามาช่วยจัดการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เข้าถึงตามสิทธิของเขาโดยสมบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้ระบบ 30 บาทเป็นไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพ แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ยังพบข้อกำหนด-อุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสม เพราะต้องอย่าลืมว่าการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยได้มานั้น ยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายแฝง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องแบกรับ เช่น ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล

“เพราะผู้ป่วยบางคนไม่ได้มาโรงพยาบาลคนเดียว แต่มีญาติ-ครอบครัวต้องเดินทางมาด้วย เพราะเขาอาจจะมีความลำบาก พิการ หรือต้องการความช่วยเหลือ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลที่จะต้องเสียค่าอยู่-ค่ากิน-โอกาสในการประกอบวิชาชีพ” นพ.ธนพันธ์ ระบุ

ค่าเดินทางคือราคาของการรักษาพยาบาล

นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ขณะนั้นมีผู้ป่วยรายหนึ่งเดินทางมาจากจังหวัดพัทลุง เพื่อเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง ส่วนตัวจึงได้เข้าไปพูดคุยและก็รับรู้ว่าผู้ป่วยรายนี้อยู่กันแค่เพียง 2 สามี-ภรรยา ไม่มีลูก ดำรงชีพด้วยการรับจ้างเฝ้าสวนยาง-กรีดยาง ซึ่งรายได้แต่ละวันค่อนข้างน้อย เนื่องจากสวนยางแห่งนั้นมีเนื้อที่ไม่กี่ไร่

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่าย-รายได้ประจำก็พบว่า ในบางครั้งที่ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องไปขอหยิบยืมเงิน เพื่อใช้สำหรับเดินทางมาที่โรงพยาบาล

“เขาก็ต้องมารับยาที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นสิทธิของเขาที่เขาจะได้ แต่พอเป็นการเดินทาง ระบบมองไม่เห็น ค่าเดินทางมันก็คือราคาของการรักษาพยาบาล” นพ.ธนพันธ์ กล่าว

นพ.ธนพันธ์ เล่าต่อไปว่า สิ่งที่ทำได้ในขณะนั้นคือยื่นเงินส่วนตัว จำนวน 100 บาท ให้กับผู้ป่วยไป จนผ่านไปในเดือนถัดมา ก็พบผู้ป่วยรายดังกล่าวอีกครั้ง จึงให้เงินจำนวน 100 บาทอีก แต่เมื่อทำไปสักระยะก็รู้สึกว่า การทำเช่นนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เพียงคนเดียว และส่วนตัวก็ไม่มีความสามารถพอในการที่จะให้เงินผู้ป่วยทุกราย และทุกครั้งที่ต้องมาพบแพทย์

นั่นจึงทำให้ นพ.ธนพันธ์ คิดว่า หากบริหารจัดการให้เกิดเป็นระบบการช่วยเหลือ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี และช่วยเหลือผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก คือหากมีเงินในมือเยอะขึ้นก็จะสามารถจุนเจือผู้ป่วยรายอื่นได้ด้วย

หลังจากนั้น “นพ.ธนพันธ์” จึงเข้าปรึกษากับหน่วยงานสิทธิประโยชน์ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่าจริงๆ แล้วก็มีเงินในมูลนิธิของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ทว่าในขั้นตอนของการขออนุมัติอาจมีระยะเวลาเล็กน้อย นั่นหมายความว่าได้เงิน แต่ช้า

หน่วยงานสิทธิประโยชน์จึงได้แนะนำว่า สามารถจัดตั้งกองทุนขึ้นมาได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องการให้ชัด

นั่นคือจุดเริ่มต้นของกองทุน “นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ เพื่อผู้ป่วยยากไร้” ซึ่งข้ามผ่านกาลเวลามากว่า 10 ปี ช่วยเหลือคนยากมาแล้วนักต่อนัก

“ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนเล่าเรื่องของคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งผ่าน Facebook เป็นเรื่องของผู้ป่วยที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาก จ.นราธิวาส โดยภรรยานั่งซ้อนท้าย และมีลูกนั่งติดรถมาด้วย และอีกครั้งหนึ่งเขาก็ขี่มาจาก อ.เบตง จ.ยะลา เพราะย้ายไปทำสวนอยู่ที่ อ.เบตง

“ผมถามว่าทำไมต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์มาเอง เขาก็ตอบว่าไม่มีรถยนต์ และถ้ามากัน 3 คน ก็ไม่มีเงินพอสำหรับค่ารถตู้”

หลังจากเล่าเรื่องนี้ออกไป ปรากฏว่ามีคนแสดงเจตจำนงเพื่อบริจาคเข้ามาเยอะมาก แต่ขณะนั้นก็ไม่ได้รับบริจาคเข้าบัญชีตัวเอง เพราะเสี่ยงจะตกหล่น ทำได้แค่ส่งเบอร์บัญชีของมูลนิธิไปให้

“จำได้ว่ามีเพียง 10 คนที่บริจาคเข้ามาผ่านบัญชีผม แล้วก็วันรุ่งขึ้นผมก็รีบเอาเงินเข้ามูลนิธิ และส่งใบเสร็จให้ทุกคนที่บริจาคมา บางคนบอกว่าไม่เอาใบเสร็จ ผมก็บอกว่าไม่ได้ เงินทำบุญถ้าจะไม่เอาใบเสร็จไม่โอเค จากนั้นผมก็ไม่ให้โอนเข้าบัญชีโดยตรงอีกเลย แต่จะส่งเป็น QR-code ของมูลนิธิให้แทน”

“เขาไม่ได้ต้องการเงินเยอะ เขาต้องการเงินเพื่อต่อชีวิต”

นพ.ธนพันธ์ เล่าต่อไปว่า เมื่อประมาณกว่า 10 ปีที่แล้ว ในช่วงแรกๆ ของการเปิดกองทุน ก็จะมองความเดือดร้อนของผู้ป่วยของตัวเองเป็นหลักก่อน ซึ่งในขณะนั้นก็ได้นำเงินส่วนตัวลงไว้ในกองทุน เดือนละ 1,000 บาท เป็นเงินจำนวน 1.2 หมื่นบาทต่อปี

จากนั้นเริ่มมีการบอกต่อถึงแนวคิดของกองทุน ปรากฏว่าก็มีญาติๆ เข้ามาขอร่วมสมทบทุนด้วย นั่นทำให้มีเงินเข้ากองทุนเพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท และเป็นเงินจำนวน 2.4 หมื่นบาทต่อปี

จากจุดตั้งต้นของการให้ผู้ป่วยครั้งละ 100 บาท สู่การใส่เงินในกองทุนเดือนละ 1,000 บาท จนกระทั่งมีคนนำเงินมาเติมให้ ทำให้กองทุนมีเงินหมุนเวียน ทั้งเงินเข้าและเงินออก

นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า ในช่วงแรกนั้น ผู้ป่วยที่ได้ใช้เงินจากกองทุน คือผู้ป่วยสูตินรีเวช ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ตนเองดูแลอยู่ โดยส่วนใหญ่คือผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง และคนที่มารับการยุติการตั้งครรภ์

“คนไข้ในระบบที่มาทำแท้งค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราพบว่าเกินครึ่งเป็นคนยากจน หมายความว่าการที่เขามาให้เราทำแท้งให้ เพราะเขาไม่สามารถที่จะดูแล หรือเจือจุนครอบครัวได้อีกแล้ว”

ขณะนั้นก็จัดการให้เสร็จทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฝังยา-ฉีดยา-ใส่ห่วงเพื่อคุมกำเนิด ซึ่งค่าใช้ในส่วนนี้โรงพยาบาลออกให้ตามสิทธิประโยชน์ที่ผู้ป่วยมี

เมื่อทำเสร็จก็จะถามผู้ป่วยว่าเหลือเงินเท่าไหร่ มีอยู่เคสหนึ่งที่เข้ามาทำแท้งในโรงพยาบาล ลูกสาวของผู้ป่วยรายนี้ได้นำเงินเก็บจำนวน 5 บาท ยื่นให้กับแม่ เพื่อที่จะให้แพทย์รักษา ซึ่งฟังแล้วสะเทือนใจเป็นอย่างมาก

“ผมไม่ใช่คนมีเงินเยอะ กองทุนก็เป็นเงินที่มีคนบริจาค ผมจะให้ผู้ป่วยไปทีละหมื่นคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นผมก็จะถามผู้ป่วยว่า เอาเงินไปเพื่อใช้เป็นค่าครองชีพไหม ค่าเดินทางไป-กลับ 500 บาทแล้ว เดี๋ยวกองทุนช่วย 1,000 บาท”

“คือคนเราเวลายากจน เขาไม่ได้ต้องการเงินเยอะ เขาต้องการเงินเพียงแค่จะต่อชีวิตไปสักระยะ ให้เขาได้ตั้งตัว และยืนขึ้นมาได้เพื่อทำงานต่อ อันนี้คือข้อดีของความเป็นคนจนที่เขาแสดงให้เราเห็น เขามีความรู้สึกว่าเขาไม่อยากรบกวนเรา ฉะนั้นคนไข้แต่ละคนที่มา ผมก็จะถามเขาว่ามีเงินพอไหมที่จะกลับบ้าน ถ้าหมอจะให้เงินเพิ่มอีกสัก 1 พันบาท โอเคไหม อันนั้นคือการใช้เงินในตอนแรกๆ” นพ.ธนพันธ์ ระบุ

กองทุนช่วยเรื่องความเป็นอยู่ ส่วนการรักษาเป็นเรื่องระบบสาธารณสุข

นพ.ธนพันธ์ อธิบายถึงแนวคิดการจัดตั้งกองทุนว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีมูลนิธิของโรงพยาบาล และมีเงินมากมายเข้ามาในระบบ แต่เงินที่เข้ามานั้นก็มีวัตถุประสงค์กองทุน เช่น กองทุนสำหรับโรคต่างๆ กองทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนแพทย์ หรือกองทุนสำหรับการจัดประชุมวิชาการ รวมไปถึงกองทุนรวมใหญ่ๆ ที่ใช้สำหรับรักษาพยาบาลของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือสิทธิ 30 บาท

“มันจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รองรับในสิทธินั้น เช่น ยา ซึ่งจะมีทั้งยาในบัญชี และยานอกบัญชี ระบบของการรักษาพยาบาลนั้น ผู้ป่วยจะเขาถึงยาในบัญชี แต่บางครั้งก็ต้องใช้ยานอกบัญชีตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย

“ตรงนี้คือส่วนเกินที่ระบบต่างๆ ไม่สามารถจัดการได้ สิทธิข้าราชการ-ประกันสังคมก็เบิกไม่ได้ สำหรับสิทธิ 30 บาทนั้นความจริงต้องได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็เบิกไม่ได้ โดยส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ

“จริงอยู่ที่การรักษาโรคบางโรคทางโรงพยาบาลก็จะได้กำไร แต่โรคบางโรคก็ขาดทุน ฉะนั้นจึงเป็นการเฉลี่ยๆ เพื่อทำให้พอที่จะดำเนินกิจการไปได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาล”

อย่างไรก็ดี สำหรับการรักษาโรคหลัก หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย โรงพยาบาลต้องจัดการ ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินกองทุน เพราะเงินกองทุนใช้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การรักษาโรคนั้นเป็นเรื่องของระบบสาธารณสุขประเทศไทย ซึ่งระบบสาธารณสุขของประเทศไทยตอนนี้สามารถเข้าถึงได้จริง

“ระบบดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าระบบที่ดีมันมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น มีค่าใช้จ่ายแฝง รวมถึงระบบของการรออนุมัติ แต่ระบบของการรักษาในตัวโรคหลัก โรงพยาบาลดูแลเต็มที่ 100%”

ลำต้นใหญ่คือระบบหลักประกันฯ กิ่งก้านคือเงินกองทุน

นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า ต้องอย่าลืมว่ากองทุนในมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นเงินฉุกเฉิน เร่งด่วน เพื่อใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่ระบบมองไม่เห็น เมื่อมีการรายงานการใช้เงินแล้วพบว่าเงินเพิ่มขึ้นมาก แต่มีการใช้ออกไปน้อย ก็ต้องมีการพูดคุยกันแล้วว่ามีอุปสรรค หรือผู้ป่วยเข้าไม่ถึงกองทุนหรือไม่

“คนเอาเงินมาใส่ในกองทุน เพราะเขาหวังว่าเงินจะไปก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่น ฉะนั้นถ้าเงินได้ออกไปใช้จริง คนที่ให้เงินมาก็จะเกิดกุศล และก็เป็นกุศลมากด้วย ฉะนั้นถ้าเงินกองทุนเหลือเยอะ ก็ต้องตรวจสอบแล้วว่าในกระบวนการทำงานนั้นมีความยากในการเข้าถึงหรือเปล่า” นพ.ธนพันธ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ช่วงเริ่มต้นในการตั้งกองทุนเป็นผู้ป่วยของตนเอง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะกระจายไปยังผู้ป่วยของภาควิชาสูตินรีเวช โดยจะมีการบอกในที่ประชุมของภาควิชาว่า สามารถนำจากกองทุนนี้ ใช้กับผู้ป่วยได้ เพียงแค่โทรศัพท์มาก็จะติดต่อ หรือเขียนใบบันทึกข้อความถึงหน่วยงานสิทธิประโยชน์ให้นำเงินออกมา

นพ.ธนพันธ์ ขยายความต่อไปว่า ขณะนี้กำลังคุยกับทางสิทธิประโยชน์ เนื่องจากเป็นเงินส่วนกลาง และเป็นเงินของกองทุนที่ใครสักคนบริจาคมาให้แก่ผู้ป่วยยากไร้ นอกเหนือจากผู้ป่วยสูตินรีเวชแล้ว ผู้ป่วยจิตเวช-ศัลยกรรม-อายุรกรรมก็สามารถใช้ได้ ถ้าหากมีอุปสรรคในการเข้าถึงบางเรื่องที่จำเป็น หรือต้องการความช่วยเหลือ โดยมีหน่วยงานสิทธิประโยชน์เป็นตัวกลางช่วยดูแลว่าการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร

“พอมีเงินเข้ามาเยอะขึ้น เงินนั้นไม่ใช่ของผมหรอก และก็ไม่ใช่ผู้ป่วยของผมอย่างเดียว คนก็อยากให้เกิดประโยชน์กับคนที่มีความยากไร้ ฉะนั้นใครก็ตามที่เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลนี้ ควรจะได้รับสิทธิใช้เงินที่คนบริจาคผ่านผมมาอยู่ในกองทุน” นพ.ธนพันธ์ ระบุ

นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า กองทุน นพ.ธนพันธ์ เพื่อผู้ป่วยยากไร้ เป็นเพียงกองทุนเล็กๆ เมื่อผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลยังไงก็ได้รับการรักษาตามสิทธิพื้นที่ฐานที่ควรจะรับ ซึ่งในขณะนี้ผู้ป่วยก็ได้รับการบริการพื้นฐานที่ดีมาก ส่วนตัวจึงแค่อำนวยความสะดวก เป็นแค่ส่วนกลาง เป็นสะพานบุญ อย่าเพิ่งคิดว่าตนเองนั้นมีความสำคัญ เพราะตนเองไม่ได้มีความสำคัญในเรื่องการใช้เงินต่างๆ เพียงแค่หาเงินมาวางในกองทุน-เชิญชวนคนมาบริจาคเท่านั้น

“สำหรับผม เงินที่จะบริจาคควรจะต้องกระจายไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านของพวกท่าน ถ้าโรงพยาบาลเหล่านี้มีเงินก้นถุงแบบที่โรงพยาบาลเรามี ซึ่งจริงๆ ก็มี แต่ถ้ามีได้งอกเงยผมว่าคนไข้ในชุมชนในละแวกบ้านของเราก็จะได้รับการดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต”

“อย่าลืมว่าการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบราชการ ระบบประกันสังคม การรักษาพื้นฐานทุกคนได้หมด เท่าเทียมกัน หรืออาจจะมีบางอย่างที่ไม่เท่ากัน แต่ก็ได้เท่าเทียมกันตามมาตรฐานที่เราต้องได้

“การมีเงินก้นถุงในแต่ละโรงพยาบาลนั้นจะทำให้โรงพยาบาลให้การรักษาที่ดีขึ้น แพทย์มีความสะดวกใจสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็ว แต่พื้นฐานต้องมี อย่าอ้างว่าเอาเงินจากมูลนิธิมารักษาผู้ป่วย อันนี้ผิดหลักการมาก เพราะหลักการคือระบบการรักษาสุขภาพของประเทศไทยจะต้องดูแลคนทั้ง 66 ล้านคนทั้งประเทศได้ทั้งหมด แม้ไม่มีเงินจากมูลนิธิ ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลตามมาตรฐาน อะไรที่เขาควรได้ เขาต้องได้” นพ.ธนพันธ์ ระบุ

ปัจจุบัน นพ.ธนพันธ์ มีกองทุนที่จัดตั้งในมูลนิธิ 2 กองทุน นั่นคือ “กองทุน นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ เพื่อผู้ป่วยยากไร้” มีเงินในกองทุนประมาณ 1.3 ล้านบาท และ “กองทุนพัฒนาการดูแลผู้ป่วยนรีเวชระบบปัสสาวะ” ที่ในขณะนี้มีเงินในกองทุน ประมาณ 9 แสนบาท

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้สามารถดำเนินการได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์”

– ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 565-2-09777-0

– ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 641-0-15655-5

หรือหากต้องการบริจาคสมทบทุน 2 กองทุนข้างต้น ให้เพิ่มเพื่อนในไลน์แอปพลิเคชัน @shf.psu แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าประสงค์จะบริจาคเข้ากองทุนใด

 

ที่มา : https://www.thecoverage.info

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค