ปคบ.-อย.ทลายโกดังสินค้า จับครีมปลอม เลียนแบบยี่ห้อดัง

ทีมดารานักแสดง พรีเซ็นเตอร์ ผลิตภัณฑ์ทาใบหน้ายี่ห้อหนึ่ง เข้าติดตามคดีปลอมแปลงสินค้าจัดจำหน่ายให้ประชาชน โดยตำรวจ ปคบ.ร่วมกับ อย.บุกปิดโกดังสินค้า ยึดผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 4,000 กล่อง

วันนี้ (8 มิ.ย.2564) ตำรวจ ปคบ.และเจ้าหน้าที่ อย.เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า ซอยกำนันแม้น 13 แขวงคลองบางพราน เขตบางบอน พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ ดร.จิลล์ จำนวน 4,400 กล่อง และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Facial Mark BLOOD ORANGE จำนวน 38,400 ซอง

หลังได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางประเภทครีมทาใบหน้าและจัดจำหน่ายในราคาถูกกว่าราคาท้องตลาด จึงสงสัยว่าอาจเป็นการปลอมแปลงสินค้า

พ.ต.อ.เนติ วงศ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 ปคบ.เปิดเผยว่า การตรวจค้นจับผู้ต้องหาชาวจีนได้ 1 คน และพบว่าสินค้าในโกดังทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม

ผลสอบปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหาสารภาพว่าอยู่เมืองไทยมานานและทราบว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้มีชื่อเสียง มีดารา นักแสดงหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์

จึงเลือกปลอมสินค้ายี่ห้อโดยผลิตในต่างประเทศและนำเข้ามาติดสลากเลียนแบบนี้ ก่อนจำหน่ายในตลาดออนไลน์ และจัดจำหน่ายในราคาถูกกว่าราคาปกติค่อนข้างมาก

ด้านเภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า การตรวจสอบเบื้องต้น ผลิตภัณฑ์ล็อตของผู้ต้องหา ผลิตไม่ตรงตามสูตรที่แจ้งไว้กับทาง อย. และไม่ได้ผลิตในโรงงานที่แจ้งไว้เช่นกัน

จีงมีความชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ส่วนสูตรผสมที่ปลอมขึ้น ยังไม่ได้ตรวจแยกสารว่าจะมีอันตรายต่อผู้ใช้หรือไม่

ตำรวจยังระบุด้วยว่าที่ผู้ต้องหาจัดจำหน่ายราคาถูก แล้วผู้บริโภคหลงเชื่อ เพราะอ้างว่าสินค้าซื้อตัดล็อตของไม่เสียภาษี และขายในที่ราคาถูก เตือนประชาชนควรระวังการซื้อของในราคาถูกกว่าราคาโดยทั่วไปจนเกินปกติ หรือซื้อกับบริษัทโดยตรง

ขณะเดียวกัน ทีมดารานักแสดง ผู้เป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์เข้าร่วมติดตามการจับผู้ต้องหา เปิดเผยว่า อยากให้ประชาชนระมัดระวังการเลือกซื้อสินค้าผ่านตัวแทน หรือช่องทางอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์

หรือหน้าร้านของสินค้าโดยตรง เพราะเห็นว่ามีราคาถูก แต่สินค้าปลอมเมื่อซื้อไปใช้แล้ว แม้อาจจะไม่เกิดผลร้าย แต่ก็อาจจะไม่เกิดคุณ หรือประโยชน์ต่อผู้บริโภค เป็นการสูญเงินเปล่า

นอกจากนี้ อย.เตือนผู้บริโภคก่อนซื้อยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง

และไม่ซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลากหรือแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ หรือที่มีราคาถูกเกินไป และอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่เกินไปจากความเป็นเครื่องสำอาง

สำหรับผู้กระทำความผิด เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ,

“ขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ,

“ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฐาน “จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค