ปลุกผู้บริโภคทั่วประเทศ “ตื่นรู้” ผูกขาดค่ายมือถือคือ “ฝันร้าย”

นักสิทธิพลเมือง อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เรียกร้องผู้บริโภคทั่วประเทศให้ลุกขึ้นมาต้านภัยยุคดิจิตอล

เพราะการควบรวมค่ายมือถือ “ทรู – ดีแทค” จะเป็นฝันร้ายที่นำไปสู่เส้นทางการผูกขาดทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีมูลค่าทางธุรกิจนับเป็นแสนล้านบาท ที่จะบีบอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคสู่จุดอับ ลดโอกาสการเข้าถึงบริการของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และคุกคามสิทธิความเป็นพลเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันส่งเสียงผลักดันให้ กสทช. ใช้ความกล้าหาญด้วยการใช้อำนาจตนเองตามกฎหมาย พิจารณาการควบรวมทรู – ดีแทค เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในเวที “ควบรวมทรู – ดีแทค ผูกขาดตลาดกระทบผู้บริโภค กสทช.กำกับอย่างไร” ที่จัดโดยสมาคมผู้บริโภคสงขลา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ภญ.ชโลม เกตุจินดา ผู้ประสานงานหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ชักชวนให้ผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมกันรณรงค์ไม่เอาควบรวม โดยชี้ให้เห็นภัยของการนำกิจการคลื่นความถี่ไปอยู่ในมือบริษัทเพียงสองบริษัท ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดในธรุกิจดิจิทัล

“สิ่งที่อยากเห็นคือ ผู้บริโภคช่วยกัน รวมตัวกัน ลุกขึ้นมาบอกว่าการควบรวมธุรกิจของสองบริษัทนี้จะกระทบผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภครับรู้ปัญหาว่าเราจะไม่มีทางเลือก แต่ทำได้เพียงใช้บริการตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่เจ้ากำหนดให้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรพร้อมใจกันคัดค้านการผูกขาด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายพลังผู้บริโภค” ภญ.ชโลมกล่าว

ภญ.ชโลม ยังแสดงความผิดหวังต่อ กสทช. ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว แต่กลับทำเรื่องไปปรึกษากฤษฎีกาว่าตัวเองมีอำนาจหรือไม่ อาจเป็นเพราะการควบรวมกิจการรั้งนี้เป็นดีลใหญ่มูลค่าแสนล้านบาท กสทช. กลัวจึงต้องให้รัฐบาลตัดสินใจ ขณะที่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคีเครือข่ายที่อยู่ข้างผู้บริโภค มีแรงกดดันมาจากภาคธุรกิจและฝั่งผู้บริโภคที่เห็นต่าง

อย่างไรก็ตาม สังคมต้องตระหนักถึงผลกระทบจากการควบรวมที่จะทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อยถูกทอดทิ้ง เพราะเมื่อเหลือธุรกิจค่ายมือถือเพียง 2 รายซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกัน และมีการทำธุรกิจในลักษณะคล้ายกัน บริษัททั้งสองนอกจากจะให้บริการกิจการโทรคมนาคมแล้ว ยังมีบริษัทลูกที่ให้บริการทางการเงินกับผู้บริโภคด้วย หากสองบริษัทนี้เจรจากันกันลงตัวจะบีบให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์น้อยกว่าไม่มีอำนาจการต่อรองหมดสิทธิ์การเข้าถึงบริการได้

วชิราภรณ์ นิรันตราภรณ์ นักกิจกรรม ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แนะผู้บริโภคที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้แสดงจุดยืนรณรงค์ค้านการควบรวมธุรกิจของสองบริษัทนี้ร่วมกัน ด้วยการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร หรือผ่านการพูดคุยกับเพื่อน คนรู้จัก คนในครอบครัว เพื่อให้แสดงจุดยืนโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้นำการรณรงค์ในเรื่องนี้เสมอไป เพราะการควบรวมครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจน

“ทุกวันนี้มือถือ อินเตอร์เน็ต เป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ เช่น ช่วงโควิด – 19 ระบาด มีเด็กนักเรียนต้องหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เพราะเข้าไม่ถึงบริการอินเตอร์เน็ต หากเกิดการควบรวมจึงเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงมากขึ้น เกิดผลกระทบมากขึ้น เพราะสังคมทุกวันนี้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว” วชิราภรณ์กล่าวและว่า โดยส่วนตัว ในฐานะที่เป็นว่าที่ผู้สมัครพรรคก้าวไกล ไม่เชื่อว่าการควบรวมธุรกิจโดยมีการกำกับจะดำเนินการได้อย่างประสิทธิภาพ จากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมากมายในหลายธุรกิจ

วชิราภรณ์ แสดงความเห็นว่า กสทช. มี 3 ทางเลือก คือ หนึ่ง ไม่ให้ควบรวมธุรกิจ สอง ให้ควบรวมธุรกิจอย่างมีการกำกับดูแล หรือสาม ให้ควบรวมธุรกิจ ซึ่งไม่ว่ากสทช.จะเลือกแนวทางไหน ก็ต้องถูกฟ้อง หากไม่ถูกฟ้องโดยบริษัทเอกชน ก็จะถูกฟ้องโดยภาคประชาชน และเรื่องก็จะไปจบที่ศาล ทั้งนี้ อยากเห็น กสทช. ตัดสินใจ ไม่ให้ควบรวมธุรกิจ โดยเชื่อมั่นว่า แม้ กสทช. จะถูกบริษัทเอกชนฟ้อง แต่จะมีพลังประชาชน พลังผู้บริโภคจำนวนมากอยู่เคียงข้าง เพราะประชาชนจะมีความหวังว่าอย่างน้อยก็มีองค์กรกำกับอย่าง กสทช. ที่กล้าจะทลายทุนผูกขาด

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า การเข้าถึงกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงบริการอย่างเสรี และเป็นธรรม โดยที่ผ่านมามีกลุ่มคนต่อสู้ในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จสามารถเปลี่ยนระบบผูกขาดสัมปทาน มาสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อเปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในตลาดนี้มากขึ้น ทำให้ค่าบริการ และการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมของคนไทยดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั้งเกิดการประกาศแผนควบรวมธุรกิจระหว่างค่ายทรู กับ ดีแทค ซึ่งถือว่าสั่นสะเทือนวงการอย่างมากในยุค 5 จี ที่อินเตอร์เน็ต คือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน

สุภิญญา กล่าวอีกว่า หากทั้งสองบริษัทควบรวมธุรกิจกันได้ จะลดผู้ประกอบการในตลาดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย (ระหว่าง บริษัทเอไอเอส และ บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค) โดยไม่นับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึงร้อยละ 3 ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเป็น “ลูกไก่ในกำมือ” ไม่มีอำนาจต่อรอง และมีโอกาสที่ค่าบริการจะแพงขึ้นกระทบผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ระบบเติมเงิน ซึ่งขณะนี้ค่าบริการเฉลี่ยแพงกว่าคนที่ใช้บริการแบบรายเดือนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการเหลือผู้ประกอบการน้อยราย ยังทำให้ “ขาดแรงจูงใจ” ในการให้บริการหรือพัฒนาบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่มีลูกค้าน้อย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

“ตอนนี้เรามีผู้ประกอบการ 3 ราย สมมติอินเตอร์เน็ตรายหนึ่งล่มทั้งประเทศ ก็ยังล้มแค่ร้อยละ 30 แต่ถ้าเกิดการควบรวมกิจการแล้วเกิดอินเตอร์เน็ตรายหนึ่งล้มทั้งประเทศ กลายเป็นว่าได้รับผลกระทบมากถึงร้อยละ 50 ทำให้เศรษฐกิจเสียหายมากกว่า ดังนั้นการมีเครือข่ายผู้ประกอบการหลายรายจะลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ การเหลือผู้ประกอบการ 2รายยังจะทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงกิจการโทรคมนาคมได้ง่าย ซึ่งจะกลับมาส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่ต้องได้รับความคุ้มครอง”

สุภิญญา กล่าวอีกว่า รู้สึกเสียใจในการทำหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ชุดนี้ ที่ไม่กล้าใช้อำนาจอย่างกล้าหาญ และไม่อยากแบกความรับผิดชอบหรือตัดสินใจในเรื่องนี้ จึงใช้วิธี “ลดทอนอำนาจตัวเอง” ด้วยการส่งเรื่องไปสอบถามกฤษฎีกาเสมือนตัวเองเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องการตีความตามกฎหมายว่า กสทช. มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทคหรือไม่ ทั้งที่กสทช. คือองค์กรอิสระไม่ยึดโยงรัฐ และตามมาตรา 9 ระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช. มีสิทธิยับยั้งการดำเนินการ หากพบว่าเป็นการกำจัดเสรีภาพของผู้บริโภค

หากธุรกิจบริการคลื่นความถี่กลับเข้าสู่ยุคมืด หรือ การผูกขาดบริการอินเตอร์เน๊ต นั่นคือ ผู้บริโภคต้องกลับไปสู่ยุค “ฝันร้าย” ที่ไร้อำนาจการต่อรอง

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค