ผู้ป่วยบัตรทองฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฟรี! เริ่ม 1 ก.พ.นี้ มั่นใจเป็นประโยชน์กับ ปชช.

วันนี้ (26 มกราคม 2565) รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (PD) สามารถเลือกใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) ได้โดยไม่จ่ายเงินเอง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ในภาพรวมคิดว่าเป็นนโยบายที่ดีกับประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยจะสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์ เพื่อประเมินและเลือกวิธีการล้างไตที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ตามบริบทของสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้ป่วย จากเดิมที่จะต้องเลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก ซึ่งในผู้ป่วยบางรายที่รู้สึกไม่พร้อม กลัวการติดเชื้อต่างๆ ก็สมัครใจไปใช้วิธีการฟอกเลือดโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง

“เมื่อกว่าสิบปีก่อนที่เราเริ่มนโยบาย PD First เพราะตอนนั้นหน่วยบริการไตเทียมยังไม่เพียงพอ และบุคลากรเราก็มีน้อย จึงไม่สามารถที่จะรองรับการฟอกเลือดทั้งหมดได้ เราจึงใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้องให้เป็นทางเลือกแรก ซึ่งสามารถทำได้ทุกที่ และคนไข้ทำได้เอง แต่ในคนไข้บางรายที่ไม่พร้อม ก็ต้องไปจ่ายค่าฟอกเลือดที่ค่อนข้างแพง ทำให้คนไข้รู้สึกลำบาก” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้น ผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงของนโยบายนี้ คือ ประชาชน ที่จะเป็นศูนย์กลางในการตัดสิน ประกอบกับคำแนะนำของแพทย์ เพื่อประเมินร่วมกันว่าจะเลือกการล้างไตทางช่องท้อง การฟอกเลือด หรือการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต ทางเลือกใดจะเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย รวมถึงบริบทของแพทย์ สถานที่ หน่วยบริการ และวิถีชีวิตของตัวผู้ป่วย ขณะที่ภาระงบประมาณระหว่างการล้างไตทางช่องท้อง กับการฟอกเลือด ก็ไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อจากนี้คือ การเพิ่มศักยภาพในการรองรับ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่จะต้องมีการเพิ่มทั้งจำนวนเครื่องมือ หน่วยบริการ รวมทั้งบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลไตเทียม อายุรแพทย์โรคไต และศัลยแพทย์หลอดเลือด ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องพยายามเพิ่มจำนวนบุคลากรในด้านนี้ โดยผลิตหรือให้ทุนฝึกอบรมเพิ่มขึ้น อันจะเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายนี้ แม้ความลำบากในช่วงแรก คือหน่วยบริการไตเทียมอาจยังไม่เพียงพอในบางพื้นที่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือบุคลากร เพราะส่วนอื่นๆ เช่น สถานที่ หน่วยไตเทียม หรือการซื้อเครื่องเข้ามาเพิ่มนั้น สามารถทำได้ไม่ยากภายในระยะเวลาอันสั้น หากแต่การเพิ่มจำนวนบุคลากรจะต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะศัลยแพทย์หลอดเลือดที่ยังมีจำนวนน้อยอยู่ และบางครั้งต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปดูแลผู้ป่วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าในหลายพื้นที่ขณะนี้มีความพร้อม โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง ที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมทั้งหน่วยเอกชนที่ร่วมให้บริการ จึงน่าจะเพียงพอ ยกเว้นเฉพาะในบางพื้นที่ที่ห่างไกลและอาจไม่มีหน่วยไตเทียม ซึ่งโดยบริบทแล้วแพทย์ก็จะเลือกให้ผู้ป่วยใช้วิธีล้างไตทางช่องท้องอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ หากยังไม่มีหน่วยบริการรองรับ ฉะนั้นมองว่าการเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ เป็นไปตามธรรมชาติ

“ในช่วงแรกนั้นอาจมีคนไข้ที่ฟอกเลือดเพิ่มขึ้นบางส่วน ซึ่งน่าจะเป็นคนไข้ใหม่ ที่มักจะเลือกการฟอกเลือดมากกว่าการล้างไตทางช่องท้อง ตามธรรมชาติของความเชื่อที่เขาอาจมีความมั่นใจ รู้สึกปลอดภัยกว่า ส่วนคนไข้เก่าที่ล้างไตทางช่องท้องและสบายดีอยู่แล้ว ก็คงจะอยู่ในการรักษาแบบเดิม ขณะที่คนไข้ที่ฟอกเลือดแล้วต้องจ่ายเงินเอง อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์จากการที่ได้รับงบเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับ” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันพุธที่ 26 มกราคม 2565

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค