มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ค้าน กสทช.ปัดเศษวินาทีโทรศัพท์

มหากาพย์คดีผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สู้ ในศาลปกครองสูงสุด กรณี กสทช.อุทธรณ์ คำพิพากษากรณีศาลปกครองสั่ง กสทช. คุมค่ายมือถือ คิดค่าบริการตามจริงห้ามปัดเศษวินาที

วันที่ 21 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายฝ่ายคดีปกครองของมูลเพื่อผู้บริโภค และ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในคดีที่ กสทช.อุทธรณ์ คำพิพากษากรณีศาลปกครองสั่ง กสทช. คุมค่ายมือถือ คิดค่าบริการตามจริง ห้ามปัดเศษวินาที ที่ศาลปกครอง สูงสุด โดยเหตุผลในการสู้คดีในศาลปกครองสูงสุดเป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจากการที่ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ภายใต้การกำกับของ กสทช.คิดค่าบริการ โดยปัดเศษวินาที ซึ่งยังผลให้ ผู้บริโภคได้รับความเสียเปรียบเทียบในเรื่องของค่าบริการโทรศัพท์ ยกตัวอย่างเช่น การใช้โทรศัพท์ใน 1 นาที จะมีระยะเวลาจำนวน 60 วินาที ซึ่งโอกาสที่จะโทรลงตัว 1 นาที โดยไม่มีเศษวินาที แทบจะน้อยมากหรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งการปัดเศษวินาทีเป็นนาที ส่งผลต่อผู้ใช้บริการในฐานะผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการโทรสั้นหรือโทรยาวก็ตามจะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มมากขึ้นโดยที่ตนเองไม่ได้ใช้บริการในส่วนของการปัดเศษ

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายฝ่ายคดีปกครองของมูลเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความน่าสนใจของคดีนี้ คือ เหตุผลใด ทาง กสทช.จึงมีความพยายามในการทำลายมติ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค กล่าวคือ มีมติการประชุม กทค.ครั้งที่ 10/2559 เป็นมติที่เป็นเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะเป็นมติที่ประชุมที่เกิดจากการตีความ ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจกรรมโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2558 และประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 940-960 MHz ลงวันที่ 18 กันยายน 2558 ประกอบคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 16/2559 เรื่องการประมูลความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม โดยตีความคำว่า “คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง” ว่าหมายถึง การคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที แต่ปรากฏต่อมาว่า ทาง กสทช.กลับมีความพยายามจัดประชุมเพื่อทำลายมติดังกล่าว โดยการประชุม กทค.ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ในระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค.ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที ซึ่งบรรดาเทคโนโลยีของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่สามารถทำได้อยู่แล้วในการคำนวณค่าบริการเป็นวินาที แต่เหตุไฉน จึงเพิกเฉย ไม่ทำ ซึ่งยังผลให้เกิดความสงสัยต่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าเป็นธรรมหรือไม่จากการใช้บริการของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่

ที่สำคัญ ที่ทาง กสทช.ต้องตอบคำถามสังคม ตลอดจนศาลปกครองสูงสุด คือ เหตุใด เมื่อมีมติ กทค.ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที ทาง กสทช.จึงยังไม่บังคับค่ายมือถือให้ปฏิบัติตามมติ ดังกล่าว หรือ แม้กระทั่งเมื่อมีคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นออกมาแล้ว ทำไมจึงดันทุรังต่อในการอุทธรณ์โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่ใช้บริการในฐานะผู้บริโภค ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้คดีในศาลปกครองสูงสุด คดีนี้เป็นบรรทัดฐาน แก่สังคมเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคอันเกิดจากการไม่กำกับ ควบคุมดูแลของ กสทช. ในกรณีคิดค่าบริการตามจริง ห้ามปัดเศษวินาที

นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) บอกว่า ในเมื่อ กสทช. ยื่นอุทธรณ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็จะสู้คดีต่อ ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการในชั้นศาล ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค”

ย้อนเหตุการณ์คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที สืบเนื่องมาจาก เดือนมกราคม 2560 มูลนิธิผู้บริโภค และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้บริโภค (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับ ผู้บริโภค ที่ได้รับความเดือดร้อน ยื่นฟ้อง กสทช. เป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจาก ถูกค่ายมือถือเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม โดย คิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาที คือ การที่ผู้ใช้บริการ จะถูกคิดค่าบริการเป็นหนึ่งนาที ทุกครั้งที่มีการใช้บริการเกินเป็นวินาที เช่น โทรเกิน 1 วินาที ถูกปัดเป็น 1 นาที , หรือ เวลาโทรไป 1.01 นาที ก็ตัดค่าโทรเป็น 2 นาที , หรือเศษของนาทีบางครั้ง 1-2 วินาที แต่ถูกคิดค่าบริการ 1 นาที , โทรไม่ถึงนาทีแต่คิดค่าโทรเป็นนาที เช่น โทร 10 วินาที 10 ครั้ง ถูกคิดค่าโทรเป็น 10 นาที , สัญญาณโทรไม่ติด มีเสียงรบกวน มีตัวเลขโชว์การโทรออก 1-2 วินาที ถูกนับเป็น 1 นาที นอกเหนือจาก ปัญหาเรื่องการปัดเศษโทร ยังมีปัญหาอย่างเช่น เรื่อง SMS ที่โดนคิดเงินทั้งๆ ที่ไม่เคยสมัครสมาชิก สัญญาณการโทรไม่ดี หรือไม่มีสัญญาณแต่โดนคิดเงิน เน็ตไม่เสถียร ใช้ไม่ได้ แต่คิดเต็ม เป็นต้น ซึ่งการ “ปัดเศษ” ของ “เวลา “ใช้งานโทรศัพท์มือถือจาก “วินาที”เป็น “นาที” เป็นเล่ห์ที่บริษัทเอกชนผู้ให้บริการคลื่นความถี่เรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้บริโภค

หลังการต่อสู้ของผู้บริโภค ผ่านกระบวนการฟ้องร้องยาวนานถึง 5 ปี ในที่สุดวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ชัยชนะก็เป็นของผู้บริโภค ศาลปกครองกลางมี คำพิพากษาให้ กสทช. ต้องกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ TRUEและ AIS ต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยห้ามปัดเศษวินาที

ทั้งนี้ “ศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า … ผู้ให้บริการคลื่นความถี่สามารถ เลือกใช้“ หน่วยวัด “ เพื่อคิดค่าบริการได้ ทั้ง “หน่วย วินาที “ หรือ “นาที “แต่ กสทช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไข ห้ามผู้ให้บริการคลื่นความถี่ใช้วิธีคิดแบบปัดเศษ วินาทีเป็น นาที ส่วนวิธีการคิดค่าบริการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช.” รวมทั้งให้ กสทช. พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ มีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งถือเป็นการยกระดับ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ไปอีกขั้นหนึ่ง

แต่การณ์กลับปรากฏว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ได้มี มติ 3:2 ยื่นอุทธรณ์คดี ต่อ “ศาลปกครองสูงสุด” การที่ กสทช. 3 เสียง ลงมติ อุทธรณ์ ปัดเศษวินาที เป็น นาที ย่อมเป็นการประวิงเวลา ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองล่าช้าลงไปอีก อีกทั้ง มองไม่เห็นถึงคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ต้องการเห็นประโยชน์ในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่า การปัดเศษเป็นการค้าขาย ที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงตัดสินใจ ยื่นอุทธรณ์ เพราะเห็นชัดเจนว่า กสทช. ประวิงเวลา ในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

จากตัวอย่าง คดีปัดเศษ วินาที เป็น นาที ถือการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นการฟ้องคดีครั้งเดียว สามารถคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดได้ ทั้งนี้ ความหมายคดีแบบกลุ่ม กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องกี่คน แต่ต้องยื่นคำร้องว่าศาลจะอนุญาตฟ้องแบบกลุ่มหรือไม่

สำหรับหลักพิจารณาว่าคดีดังกล่าวเข้าข่ายการฟ้องแบบกลุ่มหรือไม่ เช่น ความเหมือนของข้อเท็จจริง กฎหมายของสมาชิกที่จะฟ้องร่วมกัน อย่างการที่ทุกคนถูกปัดเศษ ข้อเท็จจริงคือเหมือนกัน เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนประสงค์จะเข้าร่วม ฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าใช้แบบทั่วไป ทำให้เกิดความยุ่งยาก ทั้งต่อศาลและการดำเนินคดี เกิดความซับซ้อน การฟ้องแบบกลุ่มจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นธรรมมากกว่าซึ่งโจทก์ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกลุ่ม

ข้อดีของการฟ้องแบบกลุ่มคือ ช่วยลดคดีที่ต้องขึ้นสู่ศาล ลดภาระของผู้ฟ้องคดี ซึ่งบางคนหากจะมาเรียกค่าเสียหาย เช่นคดีนี้ บางคนอาจจะถูกเกินค่าโทรศัพท์ 60 บาท ถ้าไปฟ้องคดีความคุ้มค่าในการดำเนินคดีก็จะจำกัด การทำแบบนี้ก็จะช่วยลดภาระของผู้เสียหาย ที่ไม่ต้องไปดำเนินคดีเองช่วยผลักดันให้ผู้ให้บริการกังวล และระมัดระวังในการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคจำนวนมาก ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือด้วยการยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ด้วย โทร 02 248 3737 Line ID : @Consumerthai

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค