“ระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่…จำเป็นหรือไม่?”

สมาคมผู้บริโภคสงขลา โดย ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมร่วมพูดคุย ประเด็น”ระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่…จำเป็นหรือไม่?” ในรายการ #HatyaiTalk #EP14  ร่วมกับกลุ่ม Hatyai Learning City โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1.ร่วมกันพิจารณาความจำเป็นของการมีระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่
2.ร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการวางแผนขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่หรือเสนอทางเลือกอื่นๆทดแทน
โดย
• คุณเศรษฐพิชญ์ ศรีวงศ์ แกนนำกลุ่ม Hatyai Change
• อ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา และ
• คุณปิยาภรณ์ เลขะกุล ผู้บริหาร บริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไทย
ผศ.ดร.วัชรินทร์ แก้วอภิชัย ที่ปรึกษาบริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด
ร่วมสนทนา
• นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล ประธานมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา และ
หัวหน้าโครงการวิจัยคลองเตยลิงก์ : การวิจัยและพัฒนาเทศบาลนครหาดใหญ่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
ดำเนินรายการ
• นายบัญชร วิเชียรศรี สถานีวิทยุฯ ม.อ. หาดใหญ่
• นางสาวชนนิกานต์ วังมี เจ้าหน้าที่ Songkhla Urban Lab
#คำถาม: ระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่จำเป็นหรือไม่?
อ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา เริ่มประเด็นว่า
“หากถามว่า จำเป็นหรือไม่?” โดยส่วนตัวคิดว่า ระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่ จำเป็นมาก และทุกเมืองต้องจัดให้มี มีแล้วก็ต้องปลอดภัย เมื่อพูดถึงระบบขนส่งมวลชนกับผู้บริโภค คือ ต้องราคาเป็นธรรม ถ้าไม่มีเราต้องจ้างเหมารถในการเดินทาง ทั้งประเด็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง เรื่องมลพิษทางอากาศ ยกตัวอย่างในช่วงที่อากาศไม่ถ่ายเท ค่า PM 2.5 หน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยในบางช่วงสูงมาก เพราะควันไอเสียจากมอเตอร์ไซด์แถวนั้นเยอะมาก
คำถามคือ ทำไมทุกวันนี้เด็กนักเรียนขี่มอเตอร์ไซด์ไปโรงเรียน ถ้าเด็กเดินทางได้ง่าย หากเราดูอะนิเมะ เด็กนักเรียนญี่ปุ่นเขาขี่จักรยานไปโรงเรียนได้ ทำไมเราจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้ หรือมีระบบขนส่งมวลชนแทนได้หรือไม่ ถ้าระบบขนส่งมวลชนของเมืองดี จะส่งผลดีต่ออีกหลายๆอย่าง
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนในอำเภอกระแสสินธุ์จะเดินทางมาหาหมอ มาโรงพยาบาล ต้องเหมารถกันมา เพราะไม่มีระบบการขนส่งรองรับ เราจะอยู่กันแบบนี้หรือต้องคิดเปลี่ยนแปลง
___________________
#คำถาม: สภาพปัญหาของระบบโครงสร้างขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
คุณเศรษฐพิชญ์ ศรีวงศ์ แกนนำกลุ่ม Hatyai Change ให้ความคิดเห็นว่า
ที่ผ่านมามีโอกาสลงพื้นที่ และเดินในเมือง พบว่า เมืองหาดใหญ่ จะมีสหกรณ์รถสองแถววิ่งรอบนอก ส่วนในเมืองจะมีสหกรณ์รถตุ๊ก ตุ๊ก ให้บริการ ซึ่งเป็นสัมปทานที่มีมานานแล้ว วันนี้ถ้าเราอยากจะทำจุดนี้ให้ดีขึ้น ต้องเซ็ตจุดหมายปลายทางตามพฤติกรรมของประชาชนกันก่อน สมมติเราพูดกันถึงเมืองหาดใหญ่และเมืองสงขลา จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดเข้ามาตลอด หากจะตอบโจทย์การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนจะใช้รถอะไร เวลาเป็นอย่างไร และค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว ณ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไม่ทราบเลยว่าลงเครื่องแล้วจะใช้รถอะไรในการเดินทาง
ขอเริ่มเส้นทางที่เป็นตุ๊กตาดังนี้ครับ เริ่มจากสนามบินฯ เข้าตัวเมืองหาดใหญ่ก็จะมีรถมินิบัสให้บริการรับส่งจากสนามบินมายังสถานีขนส่ง ซึ่งการให้บริการของรถมินิบัสตรงนี้ไม่ทราบว่าขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ผศ.ดร.วัชรินทร์ แก้วอภิชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
หากนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปอำเภอเมืองสงขลา จากสนามบินฯ เข้าตัวเมืองหาดใหญ่ก็จะมีรถมินิบัสให้บริการปลายทางอยู่ที่สถานีขนส่งฯ จากสถานีขนส่งก็จะมีรถตู้โพธิ์ทองให้บริการ จะออกจากสถานี 5-7 นาทีต่อคัน จนเที่ยวสุดท้าย 1 ทุ่ม จากสงขลาก็เวลาเดียวกัน แม้หลังจากสถานการณ์โควิด รถโพธิ์ทองก็ยังคงให้บริการอยู่ ไม่ได้หยุดให้บริการ ยึดความต้องการประชาชนเป็นหลัก
ประเด็นปัญหาเรื่องค่าบริการและการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน
ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นว่า หากนักท่องเที่ยวจะเดินทางจากสนามบินหาดใหญ่ไปสงขลา ค่าบริการไปกลับเฉลี่ย 250 บาทต่อคน ซึ่งสูงพอสมควร และการเดินทางต่อไปยังสถานที่อื่นๆ ภายในตัวเมืองหลังจากลงรถตู้แล้ว ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวต้องใช้บริการรถเล็กอีกทอดหนึ่ง ทำให้เห็นปัญหาการไม่ใช้บริการรถสาธารณะของประชาชนหรือนักท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร
อ.ชโลม เกตุจินดา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
โครงสร้างขนส่งมวลชนของเมืองหาดใหญ่ หากมองในภาพรวม เรามีรถตุ๊ก ตุ๊ก มินิบัส และรถสองแถว นอกจากนี้ยังมีรถไฟเชื่อมต่อกับเมืองอื่นๆ หากจะมองเรื่องการจะเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนของหาดใหญ่ ก็ต้องมองถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย ต้องคำนึงถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ถนนหนทาง ระบบราง เส้นทางการวิ่ง จุดเชื่อม จุดจอด สถานีขนส่ง แอพพลิเคชั่น การเชื่อมต่ออัจฉริยะ GPS ระบบสนับสนุน อินเตอร์เน็ต กลไกกำกับ ติดตาม ระบบสัมปทานเส้นทาง และต้องไม่ลืมประเด็นเรื่องเมืองสีเขียว การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด สู่ขนส่งอัจฉริยะ นโยบายเมืองเดินได้ ใช้จักรยานได้ ปั่นแบบปลอดภัย ขนขึ้นต่อเส้นทางยานพาหนะระบบอื่นได้ง่าย ตลอดจนการสนับสนุน EV อุตสาหกรรมต่อเนื่อง แบตเตอรี่ สถานีจุดชาร์จ
และยังได้ฝากประเด็นผู้บริโภคกับการมีส่วนร่วมสร้างเมืองอัจฉริยะ สิ่งที่ต้องร่วมกันคิดต่อคือ 1) การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญยังมีอะไรอีกบ้าง และมีความท้าทาย และโอกาสใหม่ๆอะไรอีกบ้าง
ขอย้อนกลับไปที่อะนิเมะของญี่ปุ่น จะเห็นการใช้รถไฟอยู่บ่อย อยากเห็นจุดจอดรถที่สมาร์ท มีป้ายไฟบอกระยะเวลาและขบวนรถชัดเจน รถขนส่งมวลชนต้องไปกันได้ทุกครอบครัว หรือสังคมไร้เงินสด รถทุกคันมีระบบกลางที่ช่วยเหลือจุดนี้ มูฟมีก็ให้บริการแล้วที่คนขับรถต้องอยู่ในกรอบ กติกา ตรวจสอบได้ ที่บ้านปูก็ทำแล้ว กำลังเพิ่มจำนวนรถและจำนวนสถานี หากต้องการทำเรื่องนี้ผู้บริหารบ้านเมืองต้องลงมาช่วย
___________________
#คำถาม: การเดินทางเชื่อมเมืองหาดใหญ่และสงขลา ต้นแบบระบบนี้ในอนาคตเป็นอย่างไร
ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอแนวคิดดังนี้ หากใช้จักรยานในการเดินทาง ภาคใต้มีสองฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูร้อน ตรงนี้จะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค อาจจะต้องหันกลับมาคิดถึงรถไฟฟ้า EV
ผู้บริหารบริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า บริษัทเรากำลังทำเรื่องนี้ เพราะเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงค่า PM 2.5 แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เยอะมาก จุดชาร์จไฟยังไม่รองรับ ค่าซ่อมบำรุง ค่าแบตเตอรี่อีก สรุปได้สองประเด็น คือ หนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดูแลแบตเตอรี่จะสูง เพราะต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่
สมมติเราเปลี่ยนรถเป็นระบบ EV ทั้งหมด ค่าบริการก็จะไม่ต่ำลง ต้นทุนไม่ต่างจากการใช้น้ำมัน แต่สิ่งที่ได้ประโยชน์คือ ประโยชน์ต่อเมืองด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง ประเด็นที่สอง หากต้องการให้ค่าบริการถูกลงมา ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย
ในญี่ปุ่นบริการขนส่งเป็นของเอกชน แต่รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องน้ำมัน ฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วยโดยเฉพาะการอุดหนุน (Subsidy) ค่าน้ำมัน อาจจะอยู่ในรูปแบบคนละครึ่งแบบแอพพลิเคชั่นเป๋าตังก็ได้ ทำทั้งจังหวัดก็ได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้ ก็จะสร้างความมั่นคงให้กับผู้ให้บริการด้วย และทำไปสักสองหรือสามปีจะทำให้เมืองโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอีกแบบหนึ่ง คนใช้รถสาธารณะมากขึ้น คนหันมาเดินไปสถานีรอรถเพิ่มขึ้น การพัฒนาทางเท้าก็จะเริ่มพัฒนาตามมา ทำเป็นโมเดลทดลองสายหาดใหญ่-สงขลาก่อนก็ได้
___________________
#คำถาม: ประเด็นการนำนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับ EV มาให้บริการรถสาธารณะ
ผู้ร่วมเสวนาได้อภิปรายในประเด็นนี้ดังนี้ แผน 1 คือ ระบบ EV จากประสบการณ์จากบริษัทในญี่ปุ่น พบว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นมีปัญหา และอยู่ในแผนที่จะจำนวนลง พลังงานสะอาดจึงเป็นทางเลือกใหม่ บริษัทรถยนต์ชื่อดังมี know how ตรงนี้แล้ว แต่ยังไม่เริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เนื่องจากมันเกี่ยวเนื่องกับระบบอื่นๆ ด้วย เช่น ความพร้อมของเมือง
แผน 2 คือ ระบบ hybrid คือใช้น้ำมันกับไฟฟ้า จะเหมาะกับรถที่วิ่งสายสั้น เหมาะกับการวิ่งในเมือง รถขนส่งในเมืองหาดใหญ่ถ้าเป็นระบบ hybrid จะดีมาก แต่ถ้าวิ่งระหว่างเมือง เกิน 30 นาที รถ hybrid จะไม่ตอบโจทย์
___________________
1.ควรเริ่มจากภาครัฐและประชาชนในเมืองต้องเห็นความสำคัญของระบบขนส่งมวลชนรวมกัน จากนั้นผู้บริหารของเมืองเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมสนับสนุน และอุดหนุนเรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพราะสุดท้ายผลประโยชน์จะตกอยู่กับเมืองและประชาชนในเมือง
2.ถ้าหาดใหญ่มีระบบรถวิ่งวนรอบเมือง เส้นทางเพชรเกษม ผ่านหน้าเทศบาลเข้าเมือง อีกสายผ่านหน้า ม.อ. เข้าถนนศรีภูวนารถ หรือเริ่มจากสถานีรถไฟตรงไป ม.อ.เลย หรือเริ่มที่ถนนสามสิบเมตร สรุปคือ ย่อยเส้นทางหลักในเมืองให้เป็นเส้นทางย่อยสามเส้นทางเชื่อมต่อกัน เป็นตุ๊กตานำร่องก่อน ส่วนรอบเมืองก็มีรถขนส่งของบริษัทโพธิ์ทองวิ่งอยู่แล้วเชื่อมรอบนอกได้
3.เสนอให้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนก่อนให้ได้ข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา
4.อาศัยกลไกและเครือข่ายพลังของผู้บริโภค เราผลักดันค่าบริการรถไฟฟ้า ตั๋วเดือน ในระดับจังหวัด เครือข่ายฯ เป็นทีมเลขาของสภาองค์กรของผู้บริโภคประจำจังหวัด จะขับเคลื่อนประเด็นนี้ในปีหน้า และถ้ามีข้อมูลชัดเจนทางเครือข่ายฯจะชงเรื่อง “ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพของเมืองหาดใหญ่” เข้าที่ประชุมให้เป็นอำนาจของประชาชน อีกทางหนึ่ง
5.ผู้ประกอบการรายไหนจะทำเรื่องนี้ หากไม่ทับซ้อนกับสัมปทานใคร ถ้าท้องถิ่นช่วย เส้นนี้เราจะทำ ทำได้เลย เซ็ตระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาสนับสนุนได้ด้วย เป็น Sandbox แบบหนึ่ง กำหนดเงื่อนไขได้ระดับหนึ่ง หากประสบความสำเร็จสามารถขยายผลได้ด้วย
6.ต้องคำนึงถึงผลกระทบกับบริษัทที่ได้รับสัมปทานเดิม ซึ่งได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งต้องคุยร่วมกัน
สรุปโดย
ที่มา :  เพจ Hatyai Learning City
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค