ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ชี้ปรับจ่าย PrEP-PEP แก้ไม่ตรงจุด กระทบป้องกัน HIV ในไทยถอยหลัง

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกรณีมีปัญหาการจ่ายยา PrEP และ PEP ป้องกันการติดเชื้อ HIV ว่า ตอนนี้มีปัญหาอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เรื่องแรกเดิมประเทศไทยให้องค์กรชุมชนอบรม ขึ้นทะบียนช่วยป้องกันการติดเชื้อ One stop service ตรวจเลือด ส่งผลตรวจให้แพทย์พิจารณาจ่าย PrEP และ PEP ได้ ทำให้มีการเข้าถึงยา และได้รับคำชื่นชมชมจากทั่วโลก แม้กระทั่ง ยูเอ็นเอดส์ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ยังมาดูงานและให้การชื่นชมว่าไทยเป็นต้นแบบเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2565 แต่กลับมีคนที่อาจจะไม่เข้าใจและร้องเรียนไปยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พิษณุโลก และสงขลา ให้บุกจับคลินิกเหล่านี้ กล่าวหาว่ามีการสต๊อกยา และยาจ่ายยาทั้งที่ไม่มีแพทย์ หรือพยาบาล

ต่อมา เมื่อเคลียร์กับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ก็ระบุว่าให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ไปดำเนินการออกหนังสือเป็นทางการยืนยันว่าสามารถทำได้ แต่ทาง สบส. กลับออกหนังสืออย่างเป็นทางการออกมาว่าไม่สามารถทำได้ และเกิดการวางแนวทางใหม่เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ว่าต้องสต๊อกและจ่ายยา PrEP และ PEP ในสถานพยาบาลของรัฐ และเภสัชกรในสถานพยาบาลรัฐเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถสต๊อกยา จายยาในชุมชนได้ ทางองค์กรภาคประชาสังคมที่เคยทำจึงต้องหยุดให้บริการ และคิดว่า คร. และ สบส. ก็คงจะต้องไปหาทางอย่างเร่งด่วน ว่าออกแนวทางที่ถอยหลังลงคลองออกมาได้อย่างไร ถ้าคิดว่าออกมาโดยไม่สมควรก็ต้องแก้ไข ไม่ให้ผู้รับบริการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สั้นที่สุด

อีกปัญหาหนึ่งคือ ตั้งแต่ขึ้นปีงบประมาณ 2566 กรณีที่นายอนุทิน ไม่ยอมเซ็นให้มีการจัดสรรงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) ยิ่งซ้ำปัญหา นอกจากจ่ายยา PrEP และ PEP ไม่ได้แล้ว ยังเกิดปัญหาในการตรวจ HIV ที่ไหนก็ได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง จากนี้ไม่มีอีกแล้ว จะตรวจได้ต้องเป็นผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น และต้องทำในสถานพยาบาลรัฐเท่านั้นด้วย ทั้งๆ ที่คนที่มารับบริการที่องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 60-70% ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง และหนีจากการถูกเลือกปฏิบัติตีตราโดยหน่วยงานภาครัฐ

“เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของนายอนุทิน แหย่มา แล้วนายอนุทิน ก็คงกลัว เพราะหวังผลในการเป็นนายกฯ เลยไม่อยากต้องมาแตะกับเรื่องผิดกฎหมาย แต่ทำแบบนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางด้านสุขภาพของประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างชัดเจน และเลวร้ายมาก จะทำให้เป้าหมายการยุติปัญหาโรคเอดส์ในอีก 8 ปี ข้างหน้า เป็นการถอยหลังเข้าคลองอย่างชัดเจน น่าอับอายมากๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งโชว์ชาวโลกไปเพียงเดือนเดียวว่า ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มี PrEP และ PEP โดยองค์กรชุมชน และกลับลำเฉย ถ้าจะทำให้ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็เพระอย่างนี้แหละ” พญ.นิตยา กล่าว

เรื่องนี้ ทางเครือข่ายผู้ทำงานด้าน HIV เรามีการรวมดูดูผลกระทบว่ามีแค่ไหน และจะสื่อให้เห็นปัญหา จากเดิมที่เราเคยอดทนทำงาน ฝืนทำต่อแม้รู้ว่าเสี่ยงผิดกฎหมาย หากถูกจับไม่มีใครช่วย หรือฝืนทำโดยที่รู้ว่าเราเบิกงบประมาณรัฐไม่ได้ และเราไปตายเอาดาบหน้าหวังว่าจะมีใครเอาเงินทุนมาให้ แต่รอบนี้เราคิดว่าเราจะไม่ฝืนแบบนั้น ไม่เช่นนั้นรัฐจะไม่เคยเป็นปัญหาเลย แล้วเอาประชาชนมาเป็นเครื่องเล่น ว่าเดี๋ยวก็มีคนมาดูแล แล้วเอาตัวเองปลอดภัยไว้ก่อน ดังนั้นรัฐควรได้รับบทเรียน และเราจะเคลื่อนไหวไม่หยุด ถ้าจะเอาเรื่อง PrEP และ PEP ไปขายเป็นหน้าเป็นตาต่อชาวโลก ทั้งที่ไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนแถมยังขัดขวาง เราคงไม่ยอม และชาวโลกก็ต้องรับทราบเรื่องนี้ ตอนนี้เรามีการคุยภาคีเครือข่ายองคืกรระหว่างประเทศแล้ว ว่าภาพที่เห็น กับสิ่งที่เป็นจริงนั้นไม่ตรงกัน

พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า จริงๆ การไม่เซ็นเบิกจ่ายงบ P&P กระทบกับประชาชนทั้งระบบ แม้แต่เรื่องผาอ้อมผู้ใหญ่ ต่อไปนี้จะทำอะไรก็ต้องมาดูว่าผู้สูงอายุติดเตียงท่านนี้เป็นสิทธิบัตรทองหรือไม่ จึงจะสามารถเบิกผ้าอ้อมได้ ถ้าคุณคิดถึงประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆ ควรไปคิดว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายอย่างไรให้ตรงกับสิ่งที่ทำมาเป็นทศวรรษและเกิดผลดีกับประเทศ มากกว่าการที่สั่งให้หยุดทุกอย่างไปก่อน แล้วบอกว่าส่งกฤษฎีกาตีความ ซึ่งไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหน การบอกว่าเอางบที่มีอยู่มาบริหารจัดการก่อนนั้น ไม่มีทาง เพราะปีงบฯ 66 เริ่มแล้ว มีการเบิกจ่ายงบฯ แล้ว อย่างสวิง เบิกสำหรับคนทุกสิทธิประมาณ 10 กว่าล้านบาท แต่ให้เบิกได้เฉพาะสิทธิบัตรทองประมาณ 2 ล้านบาท แล้วที่เหลือติดไว้ก่อน ซึ่งจะมีองค์กรอะไรมีสายป่านนานขนาดนั้น เหมือนก่อนหน้านี้ที่เราเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดที่ไม่ใช่คนไทย 2 พันคน ก็บอกว่าติดเงินไว้ก่อน จนถึงตอนนี้ก็ยังติดไว้ก่อน แล้วจะเอาหน้าที่ไหนมาทำให้คนเชื่อถือว่าคุณติดไว้ก่อนแล้วคุณจะคืน แล้วจะคืนเมื่อไหร่ เป็นไปไม่ได้ แล้วมาผลักไปเลยว่าให้ส่งต่อไปหน่วยบริหารรัฐ หรือ รพ.ตามสิทธิ เป็นการพูดแบบไม่รู้ว่าชีวิตจริงของคนเป็นอย่างไร

“เรื่องนี้องค์กรประชาสังคมคงขับเคลื่อนอีก เพราะคิดว่า สปสช. คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ แต่ คร.-สบส. คุณควรลุกมาต่อสู้เพื่อประชาชน เมื่อเห็นอยู่ว่านายอนุทินกำลังทำผิดพลาด ซึ่งเขามาแล้วเขาก็ไป เราโทษเขาไม่ได้ว่าเขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาไม่เซ็นอนุมัตินั้น ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับระบบสุขภาพ แต่หน้าที่ของคุณคือต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ เช่นเดียวกันกับคุณอนุทิน หากยังอยากเติบโตทางการเมืองต่อไป แต่กลับแสดงให้เห็นว่าคุณไม่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการขลาดกลัวการทำผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วบอร์ดทั้งบอร์ดสามารถแบ๊กอัพคุณได้ หากคุณเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ก็ให้เบิกจ่ายต่อไปได้ กฎหมายเราค่อยๆ มาคลี่กันว่า จะปรับแก้ตรงไหน” พญ.นิตยา กล่าว

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค