องค์กรผู้บริโภคจัดเสวนาเสนอ’รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย’เป็นวาระแห่งชาติรับเปิดเทอม

องค์กรผู้บริโภคจัดเสวนาเสนอ ‘รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย’ เป็นวาระจังหวัด-ตัวชี้วัดโรงเรียน หนุนเป็นวาระแห่งชาติ ด้าน ขนส่ง-สพฐ.-ปภ.รับข้อเสนอ เน้นย้ำความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม พร้อมเชิญร่วมพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘บทเรียนและอนาคต ทิศทางรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย’ เพื่อหารือถึงแนวทางและมาตรการที่จะจัดทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประสบอุบัติเหตุของรถรับส่งนักเรียนนั้นมักจะพบในข่าวบ่อยครั้ง จากข้อมูลสถิติพบว่าเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง รวมถึงยังมีสถิติเรื่องของการลืมเด็กไว้ในรถที่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคม

สสส.จึงได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เพื่อจะพยายามชักชวนให้เห็นปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง ร่วมถึงพัฒนาให้เกิดนโยบายสาธารณะ และหาผู้ที่เป็นเครือข่ายเกาะติดขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้ง 6 ภาค ได้เข้ามาช่วยทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่พัฒนาผลักดันให้มีรถโรงเรียนที่มีความปลอดภัย แต่การทำงานเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะควบคู่กับหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงโควิด โรงเรียนในหลายจังหวัดอาจเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ จึงต้องดูแลความปลอดภัยในการเดินทาง ควบคู่กับการแพร่ระบาดของโควิด โดยสวมหน้ากากอนามัย ไม่รับประทานอาหารบนรถโรงเรียน รวมถึงการทำความสะอาดมือและรถ ซึ่งจะต้องดูแลให้เป็นเรื่องพื้นฐานทุกวัน รวมถึงอยากให้โรงเรียนต่างๆ ครู ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือช่วยกันดูแลในเรื่องนี้

ด้าน น.ส.พวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นกับการทำงานเรื่องรถรับส่งนักเรียน คือ 1) ต้องการให้เรื่องรถรับส่งนักเรียนเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียนทุกแห่ง ถ้าทุกโรงเรียนทำจะทำให้มีมาตรฐานและแนวทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯ มีรูปแบบการทำงานที่มีคู่มือ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ 2) ผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ให้รถทุกคันเข้ามาตรวจสภาพและขออนุญาตขนส่งทุกภาคเรียน 3) ผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้เป็นวาระของระดับประเทศ จังหวัด และอำเภอ บางพื้นที่เข้าใจเรื่องอุบัติเหตุในจุดเสี่ยง หมวกกันน็อค แต่น้อยมากที่จะเข้าใจเรื่องรถรับส่งนักเรียน

ดังนั้น ความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน จึงไม่ใช่แค่รถจักรยานยนต์กับใบขับขี่ ความปลอดภัยจากการใช้รถรับส่งนักเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรต้องให้คำนิยามที่ชัดเจนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน

สำหรับการพัฒนาแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเพื่อผู้และเครือข่ายผู้บริโภคยินดีที่จะเข้าร่วมให้ข้อมูกับทาง ปภ. เนื่องจากมีมิติมุมมองที่จะช่วยกันในระยะยาว และอยากชวนทุกหน่วยงานมาร่วมกันผลักดันให้ ‘รถรับส่งนักเรียน เดินทางไปกลับปลอดภัย อุบัติเหตุเท่ากับศูนย์’ เป็นวาระการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมสร้างมาตรการป้องกันมากกว่าตามแก้ไขมาผนึกกำลังกันเพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยกับนักเรียน เป้าหมายอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์เกิดขึ้นได้แน่นอน

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวเสนอข้อพิจารณาเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ว่า เป็นทิศทางในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยอยากจะเห็นความชัดเจนใน 3 เรื่องนี้ คือ

1) โครงสร้าง ระบบจัดการ และระบบสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ งบประมาณ กฎระเบียบหรืออำนาจหน้าที่ เอื้อให้ท้องถิ่นชุมชนเข้ามาจัดการ โดยแก้ไขนิยาม ‘การศึกษา’ ให้รวมถึงการเดินทางมาศึกษาอย่างปลอดภัย และให้กระทรวงมหาดไทยเร่งออกระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกำหนดให้การจัดรถรับส่งนักเรียนเป็นภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกระทำได้โดยตรง รวมทั้งสนับสนุนให้มีกลไกระดับท้องถิ่นในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

2) ระบบข้อมูล เพื่อเฝ้าระวัง และสะท้อนความเสี่ยง โดยเฉพาะด้านคน พนักงานขับรถ สมรรถนะ เป็นต้น

3) เครือข่าย ความร่วมมือ กรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน รวมถึงด้านโครงสร้างการกำกับดูแลให้ไปถึงระดับอำเภอ ท้องถิ่น ถ้าทุกจังหวัดโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัด ดำเนินการเรื่องนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนได้

นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงการเปิดเทอมที่จะถึงว่า สพฐ. คำนึงถึงความปลอดภัยทั้งองค์รวมของกระบวนการที่จะต้องดูแลเด็กนักเรียน โดยในวันเปิดภาคเรียนการศึกษา วันที่ 1 พ.ย. 2564 หลักการที่เลขาธิการให้ในที่ประชุม คือ ต้องเปิดเทอม เพราะนักเรียนจะเสียโอกาส โดยที่เร่งรัดให้ฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข คือ 85% จึงจะเปิดเทอมได้

“ความปลอดภัยทางถนนยังเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อใกล้เปิดเทอมแล้ว สพฐ. จะแจ้งทีมงานให้มีข้อสั่งการเตรียมการเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น จะต้องระมัดระวังเรื่องการขนส่งมวลชนเป็นพิเศษ” นายธีร์กล่าว

นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน พวกเราจะต้องทำงานเป็นภาคีเครือข่ายมากขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กนักเรียน เราไม่ควรจะสูญเสียเด็กคนไหนไปอีกแล้วในระบบด้วยเหตุเหล่านี้ และสำหรับการทำตัวชี้วัดกับโรงเรียนที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคเสนอมา ส่วนหนึ่งมีประเด็นนี้อยู่ในเงื่อนไขอยู่แล้วแต่ยังไม่ชัด จึงอาจจะต้องใส่ในมาตรฐานเขตและโรงเรียน และเรื่องมิติในแผนของการปฏิบัติการ สพฐ. ฉะนั้นจะรับข้อเสนอไปหารือกับทางฝ่ายบุคลากร ในการปรับเงื่อนไขให้ชัดขึ้นอย่างไรบ้าง รวมถึงให้ความสำคัญกับการทำแผนของ สพฐ.

นอกจากนี้ ว่าที่ ร.ต.หญิง นวลพร ไชยเดชกำจร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้กฎหมายกับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่มีใบอนุญาต และเข้มงวดกวดขันในพื้นที่ โดยกรมการขนส่งทางบกจะมีผู้ตรวจการออกตั้งด่านอยู่เป็นประจำ นโยบายทุกครั้งในช่วงเปิดเทอมก็จะมีการตั้งด่านในช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อที่จะตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ผ่านการตรวจอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก

และถ้าจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้นก็อาจจะขอความร่วมมือผู้ปกครองที่จะไม่สนับสนุนไปใช้รถเหล่านั้น หรือทางโรงเรียนที่จะจัดการขึ้นทะเบียนให้เป็นรถรับส่งของโรงเรียนนั้นๆ ก็ควรที่จะให้รถผ่านการตรวจสภาพ หรือได้รับการอนุญาตเป็นภาคเรียนจากกรมการขนส่งทางบกก่อน แม้กระทั่งการสื่อสารทำความเข้าใจในพื้นที่ เนื่องจากผู้ขับรถบางคนไม่เข้าใจ ส่วนมากทุกจังหวัดจะมีกลุ่มไลน์รถรับส่งนักเรียน อาจจะใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เข้าสู่ระบบของโรงเรียน

นายวิทยา จันทน์เสนะ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในแผนพัฒนาแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับปัจจุบันที่จะสิ้นสุดภายในปี 2564 ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์โดยมีเรื่องความปลอดภัยของเด็กเยาวชนไว้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 5 ซึ่งจะมีระยะเวลาการทำงานระหว่างปี 2565–2570 โดยมีเป้าหมายผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ในร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ด้วย และกำลังจะมีเวทีของการรับฟังความคิดเห็น จึงอยากเชิญทุกท่านให้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนในเชิงระบบทั่วประเทศ และขอเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา     https://bit.ly/3nksjKr

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค