‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในระบบสาธารณสุข ตัวการซ้ำเติม ‘กลุ่มเปราะบาง’ งานวิจัยแนะ รวม ‘บัตรทอง-ขรก.-สปส.’ เพื่อทุกคนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม

งานวิจัยเรื่อง “การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของไทย : ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบาง” โดย วรธา มงคลสืบสกุล เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 เผยว่า แม้ประเทศไทยจะวางแผนดำเนินงานด้านสาธารณสุขไว้อย่างชัดเจนในระดับประเทศ รวมถึงระบุในกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังพยายามแก้ไขปัญหาในการให้บริการด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด กระนั้นปัจจุบันก็ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางในหลายด้าน

งานวิจัยระบุต่อไปว่า กลุ่มเปราะบาง ในที่นี้ ได้แก่ 1. กลุ่มคนยากจน ซึ่งไม่สามารถซื้อสินค้าหรือบริการที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้ 2. กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มคนชายขอบที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข 3. กลุ่มแรงงาน ที่มีรายได้ไม่มั่นคง ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขส่วนบุคคล

อันเกิดมากจาก 1. สถานภาพทางสังคม (social status) เช่น เพศ ภาษา เชื้อชาติ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าบริการสาธารณสุข 2. ทุนทางสังคม (social capital) กล่าวคือ การมีคนใกล้ชิดอย่างครอบครัว เพื่อน ฯลฯ ให้คำแนะนำจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของสาธารณสุขมากขึ้น 3. ทุนมนุษย์ (human capital) เช่น การศึกษา อาชีพ ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของบริการที่ได้รับจากสถานบริการ

ปัญหาเชิงระบบ

ประเทศไทยมี 3 ระบบที่ครอบคลุมคนเกือบทั้งหมดของประเทศ ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างกัน ส่งผลต่อการจัดสรรงบ สิทธิประโยชน์ในการให้บริการ ฯลฯ เช่น สิทธิบัตรทอง ซึ่งใช้วิธีจ่ายรายหัว เฉลี่ย 3,959 บาทต่อหัว โดยมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 48 ล้านคน ขณะที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ใช้วิธีจ่ายตามรายบริการ เฉลี่ย 15,000 บาทต่อหัว โดยครอบคลุมข้าราชการ 5 ล้านคน รวมถึงสิทธิข้าราชการครอบคลุมไปถึงคนในครอบครัว การใช้ยานอกบัญชียาหลัก และหัตถการที่มีคุณภาพกว่าสิทธิการรักษาทั้งสอง

ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ขณะนี้การบริหารงานด้านสาธารณสุขของไทย ประกอบด้วย โรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้กระทรวง สธ. โดยกรมการแพทย์ทั้งหมด 18 แห่ง โรงพยาบาลส่วนภูมิภาค ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ 34 แห่ง โรงพยาบาลเฉพาะทาง 26 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 87 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 788 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,769 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลที่สังกัดอื่นๆ เช่น สังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชน

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเหล่านี้ไม่ได้ถูกจัดสรรให้ครอบคลุมให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเพียงพอ หรือบางสถานบริการก็ไม่มีศักยภาพด้านต่างๆ เพียงพอต่อการรักษาที่ครอบคลุมทุกด้าน

ปัญหาการกระจายบุคลากรทางการแพทย์

จากรายงานข้อมุลทรัพยากรของกระทรวง สธ. ประจำปี 2560 ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ต่อประชากร สำหรับภาพรวมในระดับประเทศเท่ากับ แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,843 คน อย่างก็ดีในความเป็นจริงการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ถูกจัดสรรให้สอดคล้องกับประชากรเท่ากันทุกพื้นที่ ส่งผลให้บางจังหวัดเกิดกรณีสัดส่วนแพทย์สุงกว่าจำนวนค่าเฉลี่ยประชากร 2-3 เท่า

ทั้งนี้จังหวัดที่แพทย์มีความกระจุกตัวที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่  1 คนต่อประชากร 630 คน ในขณะที่หากเทียบกับจังหวัดบึงกาฬ สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรคือ 1 คนต่อประชากร 5,021 คน

ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย

ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบจากการส่งตัวผู้ป่วย ได้แก่ การส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถข้ามขั้นตอนที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งมีความซับซ้อน ล้าช้า การประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน การสื่อสารและบริการที่ต่อการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษา โดยเกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่ชัดเจน ขาดการเชื่อมโยงกันระหว่างเครือข่ายบริการการรักษา ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนมีภาพจำเกี่ยวกับสถานบริการทางการแพทย์ขนาดเล็กว่ามีศักยภาพเพียงแค่การรักษาโรคทั่วไป จ่ายยาให้สำหรับโรคเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยเลือกที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลในระดับที่สูงกว่าจนทำให้เกิดความแออัด เช่น โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ฯลฯ

ปัญหาด้านงบประมาณ

โรงพยาบาลในระบบสาธารณสุขจะมีแหล่งที่มาของรายได้หลัก ได้แก่ 1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2.ประกันสังคม 3. กรมบัญชีกลาง 4. กองทุนผู้ประสบภัยจากรถยนต์ และ 5. ค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโดยตรง อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลบางแห่งยังพบกับปัญหาด้านงบประมาณไม่เพียงพอ ปัญหาหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งเงินที่ได้จากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายหัวที่นำมาใช้ไม่ใช่สำหรับค่ารักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่มีเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์และการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ในกรณีโรงพยาบาลรัฐอาจจัดสรรเงินให้ไม่เต็มตามจำนวนหัวประชากรที่มาใช้งานจริง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรเพิ่มเติม เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อข้าราชการและลูกจ้าง โดยต้องใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาลมาจ่าย และยังต้องใช้เงินส่วนนี้มาจ่ายค่าตอบแทน ค่ายา ฯลฯ

ทั้งนี้ จากปัญหาด้านต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของการเนินชีวิต โดยหากไม่ได้รับแก้ไขทำให้ความเหลื่อมล้ำกระจายไปสู่มิติอื่นๆ มากยิ่งขึ้น จึงมีแนวทางและข้อเสนอ ดังนี้

  1. พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบเดียว ที่มีความครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มให้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ
  2. ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดย 1) การกำหนดยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน 2) บูรณาการระบบข้อมูลให้เป็นชุดเดียว เพื่อความสะดวกต่อการบริหารจัดการ 3) บริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ 4) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ 5) ออกแบบนโยบายโดยโครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทยที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  3. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยประชาชนกลุ่มชายขอบให้เข้าถึงบริการ รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดการเดินทางในการเข้ารับบริการของประชาชน
  4. ออกแบบการบริหารและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. ส่งเสริมให้มีการใช้การพบแพทย์ทางไกลผ่านวิดีโอ (Teleconference) เพื่อช่วยในการปรึกษาแพทย์ วินิจฉัยโรคเบื้องต้น อนึ่ง สามารถอ่านงานวิจัยฉบับได้ที่ การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข: ภาพสะท้อนและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบางทางสังคม (tci-thaijo.org)ที่มา : https://www.thecoverage.info/
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค