ก.พลังงาน ล้มเหลว ละเลย กำกับค่าการตลาดน้ำมัน ผู้บริโภคแบกเพิ่ม 900 ล้าน/เดือน

จากการเก็บข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอลของสภาผู้บริโภค ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ถูกล้วงกระเป๋ากว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 6,300 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุจากการที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายลอยตัวราคาน้ำมันทำให้ค่าการตลาดของแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นกว่าปกติกว่า 1 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลทำให้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินสมควรรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อวัน หรือ 900 ล้านบาทต่อเดือนดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากระทรวงพลังงานไม่สามารถกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังไม่คุมบริษัทน้ำมันที่รัฐถือหุ้นร้อยละ 51 ที่จะทำให้มีการปรับลดราคาน้ำมันให้เหมาะสม

ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 รสนา โตสิตระกูล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค เป็นตัวแทนสภาผู้บริโภคในการนำเอกสารร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเข้ายื่นเรื่องรายงานกระทำหรือละเลยการกระทำของกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค กรณีการกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่

รสนา โตสิตระกูล เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภค ได้ติดตามข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พบปัญหาว่าการกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันในกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ของกระทรวงพลังงานที่ใช้วิธีกำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสมไว้ที่ 2.00 บาทต่อลิตร นั้นขาดประสิทธิภาพ และมีการปล่อยปละละเลยให้น้ำมันกลุ่มนี้ได้ค่าการตลาดเฉลี่ยสูงกว่า 2.00 บาทต่อลิตรมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

“เราพบข้อมูลว่า ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์แม้จะคิดแบบเฉลี่ยรายไตรมาสก็ยังพบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นเกิน 2 บาทต่อลิตรอย่างต่อเนื่อง คือ จากไตรมาส 4 ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.66 บาทต่อลิตร ในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.81, 2.47, 3.17 และ 3.22 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และจากการตรวจสอบโครงสร้างราคาจำหน่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ในปัจจุบัน พบว่ามีค่าการตลาดตั้งแต่ 3.00 – 5.50 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะค่าการตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งมียอดขายต่อวันสูงที่สุด จากการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2566 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 3.18, 3.06, 3.06, 3.33 , 3.81 , 3.34 และ 3.34 บาทต่อลิตรตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ที่ 2 บาทต่อลิตรทุกเดือน”

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าวว่า ค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เป็นส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งค่าการตลาดน้ำมันจะแปรผกผันกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่น ที่ถูกกำหนดสูตรให้อิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียม โดยเมื่อราคาน้ำมันที่โรงกลั่นปรับลดลง หากผู้ค้าน้ำมันไม่ปรับราคาขายปลีกให้ลดลงตามไปด้วย จะทำให้ส่วนต่างที่ลดลงของราคาจากโรงกลั่นไปเพิ่มเป็นค่าการตลาดน้ำมันในอัตราที่เท่ากัน และหากราคาน้ำมันที่โรงกลั่นปรับราคาสูงขึ้น หากไม่มีการปรับขึ้นราคาขายปลีก ก็จะทำให้ค่าการตลาดน้ำมันลดลงในอัตราเดียวกันเช่นกัน ปัญหาที่พบในขณะนี้คือ เมื่อค่าการตลาดน้ำมันในกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ปรับสูงขึ้นเกินเกณฑ์เหมาะสมที่ 2 บาทต่อลิตรและขึ้นไปจนถึง 3 บาทต่อลิตร ผู้ค้าน้ำมันกลับไม่ยอมปรับลดราคาขายปลีกลงมา เพื่อดึงให้ค่าการตลาดกลับมาอยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่เหมาะสมที่ 2 บาทต่อลิตร และกระทรวงพลังงานก็ไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไปจัดการกับผู้ค้าน้ำมันได้ จึงทำให้ผู้ใช้น้ำมันถูกเอารัดเอาเปรียบต้องซื้อน้ำมันที่ราคาสูงเกินสมควร

“ปัจจุบันน้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดมียอดขายรวมกันประมาณ 30 ล้านลิตรต่อวัน การที่กระทรวงพลังงานปล่อยให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์สูงเกินค่าการตลาดที่เหมาะสมไม่ต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร จึงอาจอนุมานได้ว่า ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินสมควรรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อวัน หรือ 900 ล้านบาทต่อเดือน และหากนับจากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2566 ที่สภาผู้บริโภคเก็บข้อมูล คาดว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ต้องเสียประโยชน์จากความไร้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคของกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 6,300 ล้านบาทในช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา” รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีกล่าว

รสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันในประเทศมากที่สุดคือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากเกือบ 40% โดยผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่รายนี้ เป็นบริษัทในเครือของ ปตท ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 51% แต่กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน กลับไม่ดำเนินการกำกับดูแลให้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามมติ กบง. เพื่อรักษาระดับค่าการตลาดน้ำมันให้ไม่เกิน 2.00 บาทต่อลิตรได้เลย ถือเป็นการปล่อยปละละเลยที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน สภาผู้บริโภคจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ในการรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค กรณีการกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพ เรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานกรรมการทั้งสองคณะ รวมถึงกระทรวงการคลัง ว่าได้มีการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 61 กำหนดไว้หรือไม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 61 ได้บัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

รูปที่ 1 การกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมของกระทรวงพลังงาน
รูปที่ 2 ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2566
รูปที่ 3 แผนภูมิแสดงค่าการตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2566
สแกนเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการเสนอรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่กระทบสิทธิผู้บริโภค กรณีการกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค