ชำแหละ ‘สุขภาพคนไทย’ ผ่านผลตรวจร่างกายปี 62-63 พบ ‘แย่ขึ้น’ เพียบ – ป่วย NCDs อื้อ

ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พบความชุกของปัญหาสุขภาพหลายอย่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ภาวะอ้วน ภาวะเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น   

“การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย” เป็นการสำรวจระดับประเทศที่ช่วยเฝ้าระวังสภาวะทางสุขภาพประชาชนไทย ซึ่งจากการสำรวจครั้งที่ 6 ปี 2562 – 2563 โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ ได้ทำการสำรวจทั้งในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ภาวะโรคที่สามารถตรวจวัดพื้นฐาน ครอบคลุม ทั้งในวัยทำงาน และผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 5 ในปี 2557 พบว่าความชุกของภาวะอ้วน (BMI≥25 kg/m2 ) มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในผู้หญิงความชุกเพิ่มจากร้อยละ 41.8 เป็นร้อยละ 46.4 ส่วนในผู้ชายเพิ่มจากร้อยละ 32.9 เป็น ร้อยละ 37.8 ขณะที่ภาวะอ้วนลงพุงมีความชุกเพิ่มขึ้นเฉพาะในเพศชาย โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.0 เป็นร้อยละ 27.7 ส่วนในผู้หญิงค่อนข้างคงเดิม

สำหรับความชุกของเบาหวาน (โดยประวัติและ FPG) ในคนอายุ15 ปีขึ้นไป สูงกว่าความชุกจากการสำรวจครั้งที่ 5 จากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 9.5 สัดส่วนของผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยลดลงจาก ร้อยละ 43.1 เป็นร้อยละ 30.6

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่าร้อยละ 30.6 ของผู้ที่เป็นเบาหวาน (โดยประวัติและ FPG) ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานมีร้อยละ 13.9 ไม่ได้รับการรักษา และในส่วนของการรักษาและสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์ (FPG < 130 มก./ดล.) เพิ่มจากร้อยละ 23.5 เป็นร้อยละ 26.3

ในส่วนของความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในคนอายุ 15 ปีขึ้นไป ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.7 เป็นร้อยละ 25.4 หากจำแนกตามเพศทั้งเพศชายและเพศหญิงมีความชุกเพิ่มขึ้นทั้งคู่ โดยเพศชายเพิ่มจากร้อยละ 25.6 เป็นร้อยละ 26.7 เพศหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.9 เป็นร้อยละ 24.2

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ “การเข้าถึงระบบบริการ” ซึ่งพบว่ายังไม่ดีขึ้น โดยในจำนวนคนที่เป็นความดันโลหิตสูงนั้น สัดส่วนของผู้ที่ไม่ได้รับการ วินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มจากร้อยละ 44.7 เป็นร้อยละ 48.8 สัดส่วนที่ได้รับการรักษาแต่ควบคุมไม่ได้ตามเกณฑ์ เพิ่มจากร้อยละ 20.1 เป็น 25.0 และสัดส่วนของผู้ที่สามารถคุมความดันโลหิตได้ตามเกณฑ์ลดลงจากร้อยละ 29.7 เป็น 22.6 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 5 ระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวมของคนที่อายุ 15 ปี ขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้น ความชุกของภาวะไขมันคอเลสเตอรอลรวมในเลือด (≥ 240 มก./ดล.) ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเพศหญิงเพิ่มจากร้อยละ 17.7 เป็น 25.1 และเพศชายเพิ่มจากร้อยละ 14.9 เป็น 21.7

แม้ว่าผลการสำรวจหลายอย่างจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เช่น การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอดีขึ้น  ภาวะโลหิตจางลดลง และบางปัจจัยเสี่ยงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในบางกลุ่ม เช่น การสูบบุหรี่ลดลงในกลุ่มผู้ชาย  แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนยังต้องร่วมกันกำหนดมาตรการดำเนินการควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยง และสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และต้องมีการสำรวจติดตามสถานะสุขภาพของประชาชนต่อเนื่องเป็นระยะๆ ต่อไป

 

ที่มา : https://www.thecoverage.info/news/content/2542

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค