คน กสทช.ตั้งข้อสังเกต คำสั่งนายกฯ ฉ.29 ส่อขัด รธน.หรือไม่ เหตุเขียนชัด กก.มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ด้าน ‘นพ.ประวิทย์’ เผย รบ.ใช้วิธีเลี่ยงบาลีโอนให้ สนง.ดำเนินการแทนทั้งที่ไม่มี กม.ให้อำนาจ ส่อครอบงำองค์กรอิสระหรือไม่ เผยการลบ IP Address ในทางปฏิบัติไม่น่ามีประโยชน์
…………………………………………………………………..
จากกรณีคณาจารย์คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พรรคการเมืองบางพรรค นักวิชาการ องค์กรสื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ คำสั่งนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 โดยมีข้อกำหนดสำคัญคือการห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว โดยให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบ IP Address ที่เผยแพร่ข่าวสารลักษณะต้องห้าม และให้ระงับบริการอินเทอร์เน็ตได้นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34, 35, 29 ประกอบมาตรา 26 นอกจากนี้การสั่งให้ระงับบริการ IP Address นั้น นายกรัฐมนตรี และสำนักงาน กสทช. ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้ให้อำนาจด้วย (อ่านประกอบ : ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ปชช.! แถลงการณ์‘เพื่อไทย & ก้าวไกล’จี้เลิกคำสั่งนายกฯ ฉ.29, 70 คณาจารย์นิติฯทั่ว ปท. แถลงยัน‘บิ๊กตู่’ไร้อำนาจออกกฎห้ามสื่อ-ปชช.แพร่ข่าว-ขัด รธน., 6 องค์กรสื่อฯ จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน กสทช. ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 60 ระบุชัดว่า กสทช. ต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และป้องกันการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน ดังนั้นการออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 29 ดังกล่าวอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ได้
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นตนไม่สามารถชี้ถูกหรือผิดได้ เพราะไม่ได้เป็นนักฎหมาย แต่ประเด็นนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกคำสั่งของนายกฯ ฉบับที่ 29 ดังกล่าว ถ้าอ่านแล้วจะสังเกตได้ว่ารัฐบาลเลี่ยงที่จะไม่ใช้คำว่า กรรมการ กสทช. แต่ใช้คำว่า สำนักงาน กสทช. แล้วมอบภารกิจทั้งหลายแหล่ตามคำสั่งนายกฯดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแทน คาดว่ารัฐบาลคงทราบตามรัฐธรรมนูญว่า กรรมการ กสทช. ต้องมีความเป็นอิสระ แต่อีกส่วนคืออาจมีประเด็นข้อกฎหมายตามมา เนื่องจากสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยธุรกิจและฝ่ายเลขาธิการกรรมการ กสทช. เท่านั้น มีหน้าที่เฉพาะเกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคม การกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ เรื่องความเป็นธรรมในการให้บริการ การจัดสรรคลื่นความถี่ ตามกฎหมายประกอบ แต่การให้ไปดูเรื่องการปล่อยข่าวปลอม (Fake News) บนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตนั้น สำนักงาน กสทช. ไม่ได้เชี่ยวชาญ และไม่ได้ให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ตามกฎหมาย กสทช.ฉบับใดเลย แต่น่าจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอสมากกว่า จึงไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มอบหน่วยงานที่เชี่ยวชาญดำเนินการ
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดูเรื่องข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตนั้น มี 2 ส่วน ส่วนแรกเรื่องการดูแลเว็บเพจที่มีการโพสต์ไปแล้ว จะปิดกั้นการเข้าถึงได้อย่างไร เรื่องนี้กระทรวงดีอีเอสมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น การขอหมายศาลเพื่อบังคับ แต่การคำสั่งนายกฯฉบับดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้กระบวนการนี้เร็วขึ้นแต่อย่างใด เพราะต้องรอศาลพิจารณาอยู่ดี ที่สำคัญกฎหมายอาจอนุญาตให้ปิดเฉพาะเนื้อหาที่โพสต์ แต่น่าจะไม่อนุญาตให้ปิดแพลตฟอร์มทั้งหมด ส่วนที่สองเรื่องการปิดกั้นผู้โพสต์ข้อความ โดยการให้สำนักงาน กสทช. ไปขอข้อมูล IP Address มา แต่ข้อเท็จจริง IP Address ของไทยส่วนใหญ่เป็นประเภทไดนามิก มีการเปลี่ยนตลอดเวลา และ IP Address ไม่ได้เป็นของคนโพสต์ แต่เป็นของผู้ให้บริการ โดยการจะปิดกั้นคนโพสต์ได้ อาจต้องใช้เลขหมายโทรศัพท์ เลขเครื่อง (emi) หรือเลขหมายซิม แต่ในคำสั่งกลับใช้เรื่องปิดกั้น IP Address คิดว่าในทางปฏิบัติไม่น่ามีประโยชน์
นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายคือปัญหาเรื่องการให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามเงื่อนไขใบอนุญาต เช่น การปรับ การบังคับทางปกครอง หรือการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น ทั้งหลายทั้งปวงเป็นอำนาจของกรรมการ กสทช. ไม่ใช่สำนักงาน กสทช. ถ้าหากส่งเรื่องมาที่ประชุมกรรมการ กสทช. แล้วกรรมการฯเห็นว่าไม่ผิด ก็ลงโทษไม่ได้ เพราะกรรมการฯเป็นอิสระ นอกจากนี้คำสั่งนายกฯฉบับดังกล่าว คุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแค่สำนักงาน กสทช. ไม่ได้คุ้มครองกรรมการ กสทช. ด้วย ทำให้การทำงานอาจถูกฟ้องได้
“ถามก่อนว่าจริง ๆ การออกคำสั่งนายกฯตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยลักษณะนี้ในสภาพทั่วไป สมควรไปยุ่งกับองค์กรอิสระ หรือสำนักงานธุรการ หรือฝ่ายเลขาธิการขององค์กรอิสระหรือไม่ เพราะต่อไปหากมีคำสั่งนายกฯตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไปยุ่งกับฝ่ายธุรการหรือฝ่ายเลขาธิการศาลยุติธรรม ฝ่ายเลขาธิการ ป.ป.ช. หรือองค์กรอิสระอื่น ๆ ทั้งหลายทั้งปวงแบบนี้ แต่ไม่ยุ่งกับกรรมการองค์กรอิสระ มันจะทำให้องค์กรอิสระ อิสระจริงหรือไม่ ต่อให้เขียนแบบไม่ยุ่งเกี่ยวโดยตรงก็ตาม” นพ.ประวิทย์ กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ที่ประกาศใช้เมื่อคืนนี้ (29 ก.ค. 2564) ที่ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประสานผู้รับใบอนุญาตทุกรายให้ทำการตรวจสอบ IP Address ที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต โดยมีลักษณะที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
นายไตรรัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. จึงได้เชิญผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ (ISP) ทุกราย มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยขอบเขตของการทำงานในกรณีนี้จะดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาที่มีการบิดเบือน สร้างความสับสนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในกรณีที่มีความผิดชัดเจน สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าวทันที
“ประชาชนอย่าได้กังวลว่าสำนักงาน กสทช. จะเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของทุกคน สำนักงานฯ ไม่ได้ปิดกั้น หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย แต่จะดูแลในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิดที่มีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนหมู่มากเกิดความสับสน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์” นายไตรรัตน์ กล่าว