มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทดลองใช้ พ.ร.ก. ปราบแก๊งค์โกงออนไลน์ พบปัญหาอื้อ ยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง

เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยให้อำนาจธนาคารระงับธุรกรรมได้ทันที ส่วนบัญชีม้าเจอโทษหนักปรับ 300,000 บาท
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่รอช้า ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคทดลองใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมฯ ทันที พบว่ายังมีปัญหา อุปสรรคมาก ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองประชาชน ผู้บริโภคได้ทันท่วงที จึงเป็นที่มาของการจัดไลฟ์สด รายการเม้าท์แหลก แตกปมข่าว ชวนคุยกันเรื่อง “พ.ร.ก.ปราบแก๊งค์โกงออนไลน์” ในวันที่ 23 มีนาคม เผยแพร่ทาง Facebook Live แฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินรายการโดยนิชานันท์ ธัญจิราโชติ เพื่อชวนประชาชนพิสูจน์กฎหมายฉบับนี้จะปราบแก้งโกงออนไลน์ได้จริงหรือไม่ (สามารถรับชมย้อนหลังได้ตามลิงก์นี้ :📍Live https://fb.watch/jrysDhO5fI/?mibextid=DcJ9fc )
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ฉบับนี้คือ ผู้เสียหายสามารถโทรแจ้งให้ธนาคาร ระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อ ประชาชนแจ้งความที่สถานีตำรวจใดก็ได้ทั่วประเทศ หรือออนไลน์ก็ได้ ธนาคารระงับบัญชีต้องสงสัยได้เป็นการชั่วคราว ไม่ต้องรอเกิดเหตุ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตแลกเปลี่ยนข้อมูล ธุรกรรมต้องสงสัยได้รวดเร็ว ผู้เปิดบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300, 000 บาท ผู้เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาบัญชีม้า มีโทษจำคุก 2 – 5ปี หรือปรับ 200,000 -500,000 บาท เกิดระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้เทคโนโลยี AI ตรวจสอบและระบุธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อป้องกัน ตัดวงจรอาชญากรรมก่อนเกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ต้องการใช้สิทธิจริงในฐานะผู้เสียหายของคุณ เบญจวรรณ รัตตกุล ผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าและโอนเงินไปบัญชีปลายทางที่เป็นบัญชีม้ากลับพบว่า เมื่อโทรสอบถามธนาคารเพื่อขออายัติบัญชีปลายทางเจ้าหน้าที่ธนาคารกลับให้เข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจดตามปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบความถูกต้อง และดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารยังให้ข้อมูลอีกว่า การถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและโอนเงินไปยังบัญชีปลายทาง แม้เป็นบัญชีม้าก็ยังไม่เข้าข่ายให้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ฉบับนี้คือ โดยย้ำว่าให้เข้าแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเองโดยตรง วันต่อมาเมื่อคุณเบญจวรรณเข้าไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถอายัติบัญชีปลายทางให้ได้
คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารยังให้ประชาชนดำเนินการตามกระบวนการเดิมที่ให้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจซึ่งเป็นจุดล่าช้าทำให้เงินในบัญชีปลายทางยังคงเคลื่อนไหวได้ และทำให้ติดตามได้ยากซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบัน กรณีการทดลองใช้จากเหตุการณ์จริงของเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตรงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งการโฆษณาซื้อขายสินค้าออนไลน์ แล้วเจอปัญหาลักษณะนี้มีเยอะมาก ทั้งเฟสบุ๊ค และไลน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีความห่วงกังวล เพราะกระบวนการ การให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน แม้กฎหมายจะผลบังคับใช้แล้ว
“พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค หรือช่วยเหลือประชาชน แต่ยังพบว่ามีปัญหาอยู่มากมาย ส่วนในภาคประชาชน ฝากเตือนประชาชนให้เปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ของตัวเอง คนที่เอาบัญชีไปใช้ในทางที่ผิดถือเป็นการสมรู้ร่วมคิด หากประชาชนรู้ตัววันนี้แล้วจึงรีบไปปิดบัญชี”
ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยี หลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีความหวังว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566จะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อหยุดแก๊งค์โกงออนไลน์ คุ้มครองผู้บริโภคได้จริง เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ จนถึงความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภค ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ 02 248 3737 หรือ Line ID : @Consumerthai
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค