มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้อง กทม.ยกระดับความปลอดภัยรถรับส่ง นร.ทั่วกรุง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือ ร้อง กทม.ยกระดับความปลอดภัยของการเดินทางไป-กลับโรงเรียนทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครยังต้องยกระดับการพัฒนาในอีกหลายด้าน เช่น การเดินทางไป-กลับโรงเรียนของนักเรียนทั่วกรุงเทพยังไม่ปลอดภัย ในปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงดำเนินโครงการพัฒนาชุดความรู้และจัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องรถรับส่งนักเรียนและรถเมล์โดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการขนส่งสาธารณะ โดยศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายการให้บริการรถรับส่งนักเรียนในโซนกรุงเทพตะวันออก และกรุงธนใต้ สานต่อและต่อยอดการดำเนินงานเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี ตั้งแต่ปี 2555
วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคพร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคจึงเข้ายื่นหนังสือต่อกรุงเทพมหานครโดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับมอบหนังสือ และเพื่อนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาชุดความรู้ฯ
นางฐาณิษา สุขเกษม นักวิจัยในโครงการพัฒนาชุดความรู้ฯ กล่าวว่าจากการสำรวจปัญหาระบบบริการรถรับส่งนักเรียนซึ่งกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัดมากกว่า 400 โรงเรียน กรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการจัดระบบบริการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย แต่ละโรงเรียนมีปัญหาความไม่ปลอดภัยไปหลากหลายตามบริบทที่แตกต่างกันมาก เส้นทางมีความหลากหลาย นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนหลากหลายกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดมาก ทั้งรถรับส่งนักเรียน เดินเท้า เรือโดยสาร รถรับจ้างเอกชน และจำนวนนักเรียนของแต่โรงเรียนยังมีความหลากหลายมากน้อยแตกต่างกันมาก โดยผลสำรวจพบว่าผู้ปกครองกว่า 80.97% ไม่ใช้รถรับส่งนักเรียนและผู้ปกครอง 19.03% ใช้รถรับส่งนักเรียน อย่างไรก็ตามผู้ปกครองมีความต้องการรถรับส่งนักเรียนถึง 27.89% โรงเรียนในกรุงเทพมหานครจึงมีความยากต่อการบริหารจัดการมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีโรงเรียนที่พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยทั่วประเทศแล้วกว่า 20 แห่งจึงเป็นความท้าท้ายที่กรุงเทพมหานครจะทำให้เกิดขึ้นได้ในกรุงเทพได้เช่นเดียวกัน
“ผลการสำรวจของเราพบความแตกต่างที่สำคัญคือ ฝั่งกรุงเทพตะวันออก จะต้องส่งเสริมให้เกิดรถรับส่งนักเรียนที่ขึ้นทะเบียนและมีมาตรฐาน ด้วยการประสานงานระหว่างภาคีเครือข่าย เช่นผู้ประกอบการรถ หน่วยงานการศึกษา ผู้ปกครอง จัดทำชมรมรถรับส่งนักเรียนในแต่ละโรงเรียน และการขึ้นทะเบียนรถรับส่งนักเรียนให้มีมาตรฐาน ส่วนพื้นที่กรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ต้องเพิ่มการจัดการ จราจรบริเวณหน้าโรงเรียน กวดขันการสวมหมวกนิรภัย” โดยตั้งแต่กลางปี 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เข้านำเสนอผลการศึกษาและยื่นหนังสือต่อสำนักการศึกษาในหลายสำนักงานเขตหลายแห่งเพื่อความร่วมมือในการจัดการให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยตามบริบทพื้นที่
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่าการเดินทางเข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะทำให้การทำงานตลอดที่ผ่านมาได้รับการยกระดับเป็นนโยบายความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนทั่วทั้ง กทม. ที่มีโรงเรียนในสังกัดอยู่ถึง 437 แห่ง
“วันนี้ประเด็นที่เรานำมาหารือกับรองผู้ว่า กทม.คือ “ระบบการจัดการ การเดินทางของนักเรียน โรงเรียนสังกัดกรงเทพมหานคร” ซึ่งเรามีข้อเสนอมาเสนอหลัก 2 เรื่องคือ ข้อ 1 เสนอให้การเดินทางไปกลับระหว่างบ้านโรงเรียน เป็นสวัสดิการที่ทางกรุงเทพมหานคร จัดให้มีรถบริการ สำหรับพื้นที่ไม่มีรถสาธารณะ ดูแลระบบการให้บริการรถรับส่งนักเรียนที่เอกชนเข้ามาจัดการให้ได้มาตรฐาน จัดทำระบบฐานข้อมูล ผู้ให้บริการรถรับส่งนักเรียน เอกชน หมวกกันน็อกให้ได้มาตรฐาน และเป็นการให้ขาด ไม่ต้องคืน ข้อ 2 เสนอให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกัน จัดทำพื้นที่รับส่งนักเรียนหน้าโรงเรียนให้ปลอดภัย เช่น ไฟจราจร ทางม้าลาย เส้นชะลอความเร็ว การกั้นทางข้ามในช่วงเข้าเรียนและเลิกเรียน”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพูดคุยหารือร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในวันนี้ ทำให้เห็นปัญหาความไม่ปลอดภัยการเดินทางไป-กลับของนักเรียนในกรุงเทพมหานครอย่างมาก ในวันนี้จึงมอบหมายให้ดำเนินงานใน 2 ระยะ ในระยะสั้นได้ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคส่งมอบข้อมูลโรงเรียน และปัญหาในพื้นที่เร่งด่วนจากการทำการศึกษาวิจัยจากโครงการฯ เพื่อให้สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร รับไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในระยะยาวได้มอบให้สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ดำเนินการสำรวจสภาพปัญหาความปลอดภัยของการเดินทางไป-กลับโรงเรียนของนักเรียนในโรงเรียนทั้ง 437 แห่งในสังกัดของ กทม. ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้วจะเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาประชุมเพื่อหาแนวทางการจัดการเพื่อยกระดับความปลอดภัยของการเดินไป-กลับโรงเรียนของนักเรียนทั้งหมดใน กทม.ร่วมกันในระยะต่อไป