มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยปี 66 ประชาชนถูกหลอกลวง-เอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการมากสุด เหตุไร้หน่วยงานควบคุม

สินค้าและบริการครองแชมป์ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคถูกหลอกลวง-เอาเปรียบ และเดือดร้อนมากที่สุดในปี 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ ปัญหา “สัญญาธุรกิจสินค้าและบริการ” เป็นสาเหตุหลัก วอนรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการควบคุม

วันนี้ ( 13 ธันวาคม 2566 ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ บอกว่า จาก 9 เรื่องเด่น หมวดสินค้าและบริการทั่วไป ที่นำโด่งมากถึง 6 เรื่อง ซึ่งล้วนเชื่อมโยงปัญหา “สัญญาธุรกิจสินค้าและบริการ” ยกตัวอย่างเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างมาก นั่นคือ วิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ที่เกิดล่มกะทันหัน เพราะนักวิ่งรู้ว่ายกเลิกล่วงหน้าแค่ 1 วัน เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวเกรียวกราว เมื่อนักวิ่งกว่า 2 พันคน ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางไปถึงเพื่อเตรียมพร้อมในวันแข่ง 21-22 มกราคม 2566 แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ที่เป็นผู้จัด กลับประกาศแจ้งแบบฉุกเฉินแค่ 1 วัน มีผู้บริโภคบางส่วนมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กระทั่งมีการนัดหมายผู้เสียหายและผู้ประกอบการมาเจรจา 2 ฝ่าย ซึ่งวันนั้น ผู้จัดวิ่งเทรล รับปากคืนเงินให้ผู้เสียหาย แต่สุดท้ายกลับเงียบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand ทำให้ผู้ซื้อตั๋วไม่พอใจ เพราะบัตรราคาแพงกลับมองเห็นเวทีอยู่ไกล แต่ราคาถูกกลับอยู่ใกล้เวที อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองเห็นปัญหาที่กระทบผู้บริโภคจนเกิดความเสียหายมูลค่าสูงเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ ทัวร์ ‘อ้วน ผอม จอมเที่ยว’ เทลูกทัวร์ ซึ่งพบว่ามีหลายรายถูกเรียกเก็บเงินตั้งแต่ปี 2562 แต่จนปัจจุบัน ยังไม่ได้เงินคืนโดยมีข้ออ้างเรื่องปัญหาวีซ่าหรืออื่นๆ ถึงแม้บางรายได้เดินทางไปประเทศที่ซื้อทัวร์ แต่กลับไม่มีโปรแกรมตามตารางที่แจ้งไว้ ขณะที่บางส่วนถูกบังคับให้ออกค่าใช้จ่ายเองแถมไม่สามารถขอเงินคืน ทั้งที่บริษัทเคยยืนยันสามารถขอเงินคืนได้ จากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีผู้เสียหายหลายร้อยรายได้รับความเดือดร้อนมีบางส่วนของผู้เสียหายมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะถึงแม้ผู้บริหารบริษัทอ้วนผอม ยืนยันไม่ได้ตั้งใจทำทริปล่ม พร้อมชดใช้ให้ผู้เสียหาย แต่ความเชื่อใจและเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ได้สูญหายไปหมดแล้ว ผู้เสียหายหลายร้อยคนมั่นใจว่าถูกโกงแน่นอน จึงแห่ไปแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ( ปคบ. ) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทอ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ กับพวก ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ด้าน พนักงานสอบสวน หลังรับแจ้งความ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 400 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท จึงรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอศาลอาญาออกหมายจับ นายอัจฉริยะ กรรมการบริษัท อายุ 39 ปี และ น.ส.ศศิประภา หุ้นส่วนบริษัทและควบตำแหน่งผู้จัดการจัดทริปทัวร์ อายุ 38 ปี ซึ่งทั้งคู่มีสถานะเป็นสามี-ภรรยา ซึ่ง พฤติกรรมทางคดี คล้ายกับแชร์ลูกโซ่รูปแบบหนึ่ง คือ นำเงินลูกค้าที่จองซื้อทัวร์ล่วงหน้า มาใช้จัดทัวร์ให้กับลูกค้าปัจจุบัน เหมือนการหมุนเงิน ถึงแม้ผู้ต้องหาให้การ “ปฏิเสธ แต่ตำรวจมีหลักฐานเอาผิด พร้อมตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อขยายผลผู้ร่วมขบวนการ

ประเด็นบริษัททัวร์เก็บเงินนักท่องเที่ยวไปแล้ว แต่กลับไม่พาไปเที่ยวยังสถานที่ตามสถานที่ประกาศขายทัวร์ มีลักษณะเข้าข่ายฉ้อโกง ไม่ใช่เกิดเฉพาะบริษัท ‘อ้วนผอม จอมเที่ยว’ แต่เคยเกิดมาหลายหน และ หลายบริษัท แต่สุดท้ายก็ยังมีปัญหานี้วนกลับมาซ้ำรอยเดิม ประเด็นนี้เอง ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า “สัญญาธุรกิจสินค้าและบริการ” เช่น สัญญาบริการล่วงหน้ามีปัญหาการควบคุม นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ถึงแม้ประเทศไทยมี พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์หลักในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว แต่ยังไม่สามารถคุ้มครองนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสัญญานำเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ ตามพระราชบัญญัติหมวด 5 กองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว มาตรา69 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทดรองจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยว หรือตามที่ได้โฆษณา หรือรับรองไว้กับนักท่องเที่ยว หรือตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 กองทุนประกอบด้วย เงินและทรัพย์สิน ได้แก่ ทุนประเดิมที่การท่องเทียวแห่งประเทศไทยจัดสรรให้จำนวน 20 ล้านบาท และ เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและค่าธรรมเนียมอื่นที่เรียกเก็บ นี่เองทำให้เกิดคำถามว่า “กองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว” ยังมีอยู่ หรือ ไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ดังนั้น กรมการท่องเที่ยว ควรมีช่องทางให้นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่กรมการท่องเที่ยวให้การรับรองว่าประกอบธุรกิจอันสุจริตและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สุจริต ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ควรรีบดำเนินการออกกฎควบคุม “สัญญาธุรกิจสินค้าและบริการ” อาทิเช่น สัญญาบริการล่วงหน้าหรือสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการหรือบริการ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีความสุจริต รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจนำเทียว ควรกำหนดให้มีการซื้อประกันการท่องเที่ยวจากบริษัทประกันภัยเพื่อเป็นการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เป็นการบรรเทาหรือชดเชยความเสียหายแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภค

แล้วก็มาถึงเรื่องเด่นอันดับ 1 อยู่ในหมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ ซึ่งมีผู้มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากที่สุด นั่นคือ ค่าปรับ 10เท่าของ M-Flow ทางด่วนเก็บเงินอัตโนมัติแบบไร้ไม้กั้น นางนฤมล บอกว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่กรมทางหลวง เปิดใช้มีปัญหามาตลอด รวมถึงจุดบอดของระบบที่ยังต้องแก้ไขหลายอย่างทั้งระบบแอปพลิเคชันชำระเงินไม่แจ้งเตือนให้ชำระหนี้ แถม call-center1586 ติดต่อยากมาก ซึ่งผู้บริโภคที่ตกเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก ร้องเรียนว่า ความผิดเกิดจากระบบ ของ M-Flow แต่กลับผลักภาระมาให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบ สร้างความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ถึงขนาดทำให้ผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้อง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ กรมทางหลวง ต่อ ศาลปกครองกลาง โดย นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้รับมอบอำนาจจากคุณพ่อเป็นตัวแทน ยื่นฟ้อง 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะนี้ศาลอยู่ระหว่างตรวจคำฟ้อง หรือส่งคำฟ้องไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อยื่นคำให้การ ต่อมา 24 พฤศจิกายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW ที่ผู้บริโภคร้องเรียน ขณะนี้รอการตอบกลับจากหน่วยงานภาครัฐ จากประเด็นนี้ทำให้มองเห็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐเพิกเฉยการแก้ไขหรือไม่ จนผู้บริโภคต้องออกโรงจัดการเอง**

ส่วนเรื่องร้องเรียนอันดับ 4 อยู่ในหมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย หากใครยังจำกันได้เพราะเป็นข่าว เกรียวกราวช่วงกลางปี 2565 ด้วย “ฉายา 4 ปี มีแต่โครง ต้นตอปัญหาคือ “ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดฯ 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา รวม 5 โครงการ ทั่วกรุงเทพฯ แถม ไม่คืนเงินลูกค้า กระทั่ง 28 มิถุนายน 2565 ผู้เสียหายนับร้อยรวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า การช่วยเหลือดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามีแต่ความเพิกเฉย แถมย้ายสำนักงานโดยไม่แจ้งลูกค้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี โดยฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี และยื่นฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี การยื่นฟ้องครั้งนี้ ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย การที่ผู้เสียหาย ตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออล อินสไปร์ เพราะผู้บริหาร เข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจน ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องคดีอาญาด้วย ก่อนหน้านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือผู้เสียหาย โครงการไรส์ พหล – อินทามระ ยื่นฟ้องบริษัท ออลล์ อินสไปร์ จนชนะคดี ศาลให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนอีก2โครงการทยอยไต่สวนจนถึงกลางปี 2567 โดยผู้เสียหายหนึ่งรายที่ซื้อคอนโดมิเนียมโครงการ Rise Phahon – Inthamara (ไรส์ พหล – อินทามระ) ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ฯ เพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เพราะได้รับความเสียหายจากโครงการที่โฆษณาว่า เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่สุดท้ายสร้างได้แค่ 2 ชั้น ในที่สุดฝ่ายโจทก์จึงได้รับชัยชนะ

ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกด้วยว่า กระบวนการดำเนินคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตลอดปี 2566 ได้ยื่นฟ้องกว่า 30 คดี ส่วนใหญ่เป็นการฟ้องคดีจากกรณีการผิดสัญญาก่อสร้างอาคารไม่เสร็จตามกำหนด ของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้เสียหายที่ได้ผลกระทบจำนวนมาก และ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 บริษัท เรียล ลาซาล 17 จำกัด บริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ขายที่ดินและโครงการปลูกสร้างอาคารชุดพักอาศัยโครงการ ดิ เอ็กเซล ลาซาล 17 ให้แก่บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัทฯ ยังติดจำนองกับธนาคาร ทำให้ผู้เสียหายอาจพบปัญหาในการบังคับคดีถึงแม้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค