มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อง ปคบ. เอาผิดเพจหลอกขายเตารีด

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อง ปคบ. เอาผิดเพจหลอกขายเตารีด ด้านผู้เสียหายระบุ บ.ขนส่งควรช่วยเหลือผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหา       จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนมาก กรณีถูกหลอกลวงให้ซื้อเตารีดแรงดันไอน้ำ โดยโฆษณาว่าเป็นแบรนด์ Tefal และขายสินค้าในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อและสั่งซื้อ สินค้าที่ทางร้านส่งให้กับผู้ซื้อกลับไม่ใช่ยี่ห้อตามที่โฆษณานั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : เตือนภัยผู้บริโภค : หลอกขายเตารีดผ่านเพจเฟซบุ๊ก)

วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) ธนัช ธรรมิสกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) พร้อมด้วย พูลสุข ทองพนัง หนึ่งในผู้เสียหาย เข้ายื่นหนังสือและเอกสาร หลักฐานต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (​บก.ปคบ.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยมี ร.ต.หญิง รัชนี นวมข้าวเม่า เป็นผู้รับ

พูลสุข ทองพนัง หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าให้ฟังว่า ตัวเองได้ซื้อสินค้าผ่านเพจ Bhts โดยเลือกชำระเงินปลายทาง แต่เมื่อรับของแล้วแกะดูพบว่าได้สินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา จึงติดต่อบริษัทขนส่งไปในวันเดียวกันเพื่อแจ้งปัญหาและขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย แต่บริษัทฯ บอกให้ไปแจ้งความและติดต่อกลับไปอีกครั้ง เมื่อติดต่อกลับไปคอลเซ็นเตอร์แจ้งว่าจะตรวจสอบข้อมูลให้ หลังจากนั้นได้ส่งเบอร์ติดต่อของผู้ขาย ซึ่งเป็นเบอร์เดียวกับที่ระบุไว้บนหน้าซองและไม่สามารถติดต่อได้

“ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทขนส่งเท่าที่ควร เพราะแทนที่บริษัทขนส่งซึ่งเป็นคนกลางจะสามารถช่วยเหลือ และให้ข้อมูลของผู้ขายที่กระทำผิดได้ กลับกลายเป็นว่า บริษัทฯ เหมือนกำแพงที่กั้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ขาย ซึ่งทำให้เราติดตามตัวผู้กระทำผิดได้ยากขึ้น” พูลสุขกล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พูลสุขระบุว่า อยากให้มีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทขนส่งต้องให้ความร่วมมือกับผู้บริโภคกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น โดยในกรณีเก็บเงินปลายทาง เสนอว่าควรมีมาตรการให้ผู้ซื้อสามารถเปิดสินค้าดูได้ก่อนชำระเงิน หรือในกรณีที่ชำระเงินไปแล้ว เมื่อได้รับร้องเรียนปัญหาจากผู้บริโภค บริษัทฯ ควรมีมาตรการในการจัดการปัญหา เช่น อาญัติหรือระงับการส่งเงินค่าสินค้าให้ผู้ขาย และหากพบว่าสินค้ามีปัญหาจริงก็ควรคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคมากกว่าการนำส่งเงินให้ผู้ขายและให้ผู้บริโภคไปติดตามเงินจากผู้ขายเอง นอกจากนี้ บริษัทฯ ควรให้ความร่วมมือโดยการเปิดเผยชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้ขายเพื่อให้สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดได้รวดเร็วขึ้น

ด้านธนัช ธรรมิสกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มพบ. เสนอว่า ควรกำหนดให้ผู้ขายของออนไลน์ทุกราย ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ. โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมียอดขายปีละ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดช่องโหว่ ที่บุคคลที่ไม่หวังดีสามารถนำมาใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภค และเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้

ส่วนภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สอบ. กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนอกจากจะเข้าข่ายฉ้อโกงแล้ว ยังมีประเด็นว่าสินค้าที่ถูกส่งมานั้น เป็นสินค้าที่ไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ด้วย โดยในกรณีมีการทำ หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา . consumerthai.org/consumers-news/product-and-other/4601-640628iron.html?fbclid=IwAR3TAJb2l0ck86HN7pV5IOYo0Jq4NMyUGQWDo-UYTc_b9LiiC97M06Tvkk

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค