ร่วมลงชื่อ ‘ค้านการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ดีแทค กับ ทรูมูฟ เอช’

สาธารณะเข้าร่วมลงรายชื่อในฐานะผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ ‘การควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรูมูฟ เอช กับ ดีแทค’ เพื่อรวบรวมรายชื่อเหล่านี้เสนอต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจาก กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตการควบรวมกิจการ ระหว่างสองบริษัทดังกล่าว

ข้อมูลเบื้องต้น : ทำไมต้องค้านการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรูมูฟ เอช กับ ดีแทค?

  • ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง ปัจจุบันในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียง 3 บริษัท ที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้านการพัฒนาบริการใหม่ ๆ การขยายพื้นที่การบริการ รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคา ซึ่งถ้าพิจารณาส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการใช้งาน ทั้ง 3 บริษัทจะครองธุรกิจในตลาดประมาณร้อยละ 97 แต่หากมีการควบรวมกิจระหว่าง บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อาจทำให้สัดส่วนแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป จากที่เคยมี 3 เจ้าเหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากทั้งในด้านบริการและราคาที่ต้องจ่าย
  • การควบรวมอาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด หากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัทได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 ซึ่งค่าดัชนีวัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแข่งในตลาด (Herfindahl-Hirschman Index HHI) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน (Failure market) และอาจมีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน และควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก
  • การมีอำนาจเหนือตลาด นำไปสู่การผูกขาดโครงสร้างและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผู้ให้บริการายใดรายหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดธุรกิจโทรคมนาคม ก็จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดบริการหรือผูกขาดโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ยากขึ้น อินเทอร์เน็ตจะช้าลง และผู้ใช้บริการทุกกลุ่มจะมีต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ การผูกขาดยังทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลที่สูงขึ้น ข้อมูลมีราคาแพง ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอีกด้วยทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีมติคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และสภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีข้อเสนอในประเด็นการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวไปยัง กสทช. 3 ข้อ ดังนี้
    1. ขอให้ กสทช. ชุดใหม่ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภค ภาควิชาการ และผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว ไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบและนำไปสู่การเอาเปรียบผู้บริโภค
    2. ขอให้ กสทช. มีมาตรการส่งเสริมและแทรกแซง ให้มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น ทั้งประเภทที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (MVNO) เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด และเพิ่มสภาพการแข่งขัน ทั้งนี้ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เงื่อนไขที่เจ้าของโครงข่ายเป็นผู้กำหนดให้กับผู้เช่าที่เป็นผู้ให้บริการ MVNO นั้นเป็นเงื่อนไขที่เป็นธรรม และเป็นเงื่อนไขที่ผู้เช่าโครงข่ายสามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับผู้ให้เช่าได้จริง
    3. ขอให้ กสทช. ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อพิจารณาผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแต่ละผู้กำกับกิจการ และพิจารณาผลกระทบในส่วนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับผู้กำกับกิจการมากกว่าหนึ่งราย เพื่อให้การพิจารณาผลกระทบโดยภาพรวม เป็นไปอย่างรอบด้าน
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค