วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น #วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น #วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)
ในแต่ละปีจะมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้บริโภค โดยมีสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกันและเป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันสะท้อนปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้องและคุ้มครอง
.
#สิทธิผู้บริโภค ได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี 2525 และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2528 อีกทั้งได้ร่วมกันรับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ประการ คือ
🔘 สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to basic need) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
🔘 สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety)
🔘 สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to information)
🔘 สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose)
🔘 สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to be heard)
🔘 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress)
🔘 สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education)
🔘 สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to healthy environment)
.
ในส่วนของประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครองไว้เพียง 5 ประการ ได้แก่ 1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ 2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
.
จากความแตกต่างในการรับรองสิทธิผู้บริโภคของไทยและสากล จะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยยังรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้จำกัดเกินไป และไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค หากมีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจะเป็นการขยายขอบเขตสิทธิของผู้บริโภคให้ครอบคลุมจะทำให้สถานภาพ บทบาท และโอกาสในการแสดงพลังของผู้บริโภคมีมากขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยก็จะได้รับหลักประกันโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยสี่อย่างเสมอหน้า
.
ทั้งนี้ ในปีนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กร ของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เห็นว่าควรได้ใช้วาระแห่งวันสิทธิผู้บริโภคสากลที่จะมาถึงในวันที่ 15 มีนาคม 2566 และวาระที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นโอกาสในการสื่อสารรณรงค์เพื่อให้ผู้บริโภค ภาคการเมือง และทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือนซึ่งช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน
.
ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จำนวน 283 องค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกขององค์กรผู้บริโภคสากล สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน”
🔍 ดูกำหนดการฉบับเต็มเกี่ยวกับวันสิทธิผู้บริโภคสากลได้บนเว็บไซต์ ที่ https://bit.ly/3JF3h55
.
.
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค