วิกฤติรุมล้อม ความมั่นคงผู้บริโภค…

ใกล้เข้ามาทุกขณะกับเลือกตั้งครั้งใหม่ จังหวะนี้การช่วงชิงคะแนนผ่านนโยบายหาเสียงยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
… “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” สัปดาห์นี้ชวนมาแลกเปลี่ยนกับ “กระบอกเสียง” คนดังที่คลุกคลีปัญหาด้านต่าง ๆ เมื่อเวทีผลักดันอย่างการเลือกตั้งกำลังจะมาถึง คนเหล่านี้อยากสะท้อน-นำเสนอแนวทางปัญหาอย่างไรบ้าง

“สารี  อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสำนัก งานสภาองค์กของผู้บริโภค (สอบ.) ยืนหนึ่งตัวแทนการเคลื่อนไหวเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภค ร่วมพูดคุยบริบทที่ผู้บริโภคต้องแบกรับเผชิญวิกฤติรอบด้าน

สารี วิเคราะห์แนวโน้มปัญหาสำคัญของผู้บริโภคปัจจุบันมีหลายวิกฤติ ตั้งแต่ “ค่าครองชีพ” ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกครอบครัวและทั่วโลก รวมถึงด้านอาหาร พลังงาน หรือในประเทศไทยที่ยังมีเรื่องค่าบริการขนส่ง วิกฤติ “พื้นฐานความปลอดภัย” ของสินค้า บริการและการใช้ชีวิตประจำวัน ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลที่ยุ่งยากซับซ้อน

วิกฤติ“หนี้สินครัวเรือน” แม้ปีนี้ตัวเลขจะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก และในอนาคตยังมีปัจจัยที่ทำให้เป็นหนี้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของผู้บริโภคหรือกลุ่มเปราะบางยังไม่ลดลง กระทั่ง “วิกฤติโลกร้อน” และการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กระทบกับผู้บริโภคโดยตรงทั้งเรื่องคุณภาพอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร

ที่สำคัญมาปัญหาเหล่านี้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่รู้ถึงสิทธิตัวเอง ทำให้การเยียวยาความเสียหาย หรือความรวดเร็วในการเยียวยามีข้อจำกัด

มุมมองแคมเปญหาเสียง

มองว่าขณะนี้หลายพรรคการเมืองอาจให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในแง่คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือนโยบายที่เกี่ยวกับรายได้ ซึ่งถือว่าจำเป็น ขณะที่อีกส่วนเห็นเพียงบางพรรคให้ความสำคัญ นั่นคือนโยบายขนส่งมวลชนที่ไม่อยากเห็นเฉพาะในเมือง แต่ควรคิดเพื่อบริการขนส่งระดับประเทศ และถึงเวลาหยุดสร้างถนนมาทำบริการขนส่งมวลชนทั่วประเทศแทน

“เราไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. เรากำลังเลือกผู้นำประเทศ นโยบายเรื่องขนส่งมวลชนควรเป็นนโยบายทั้งประเทศ  แน่นอนว่า กทม.สำคัญ เพราะคน กทม.ขณะนี้ก็มีภาระเรื่องค่าโดยสารต่อวันมากกว่า 30% ของรายได้ขั้นต่ำ บางพรรคจึงอาจมีนโยบายเรื่องรถไฟฟ้าตลอดสาย รถไฟฟ้าบัตรเดียว ซึ่งเราสนับสนุนให้มีอยู่แล้ว”

สารี ยอมรับว่าขณะนี้อาจมีนโยบายขนส่งมวลชนเพื่อคน กทม.มากกว่า พร้อมระบุข้อเสนอในเรื่องราคาเพื่อให้ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน คือการค่าโดยสารต้องไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ เช่น ทุกพรรคบอกว่า จะค่าแรงวันละ 400 บาท แต่ขณะนี้ได้อยู่ที่ 350 บาท ค่าโดยสารจึงต้องไม่เกินวันละ 35 บาท ซึ่งต้องมีเป้าหมายว่าจะทำได้อย่างไร หรือเป็นไปได้อย่างไรให้คนทั่วประเทศเดินออกไป 500 เมตรแล้วเจอป้ายรถเมล์ ไม่เฉพาะคน กทม.เท่านั้น

ทั้งนี้ ย้ำว่าบริการขนส่งมวลชนควรเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมือง และเป็นนโยบายระดับประเทศไม่ใช่นโยบายการสร้างถนนที่ควรยุติ แต่ควรทำบริการขนส่งที่เชื่อมต่อคนเดินทางในจังหวัดต่าง ๆ และ กทม. แทน

ลำดับการแก้ไข

ไม่ง่ายที่จะให้จัดลำดับว่าปัญหาผู้บริโภคเรื่องใดควรได้รับการแก้ไขก่อน-หลัง สารี เผยว่าเฉพาะนโยบายที่ สอบ.ดำเนินการอยู่ก็จัดเป็นกลุ่มหลักได้  9 ด้าน ได้แก่

1.ด้านการเงินและการธนาคาร 2.ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 3.ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.ด้านการขนส่งและยานพาหนะ 5.ด้านบริการสุขภาพ 6.ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 7.ด้านอสังหาริมทรัพย์และ
ที่อาศัย 8.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป และ 9.ด้านการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ด้านที่อยากเห็นการเริ่มผลักดันจริงจัง เช่น ขนส่งมวลชน การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนและราคาเป็นธรรม ไม่ใช่การสนับสนุนทุนขนาดใหญ่ในกิจการพลังงาน เป็นต้น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมีหลายเรื่องซึ่งอาจจะมีการนำเสนอไปยังพรรคการเมือง หรือชวนพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้

โลกเปลี่ยนเร็ว คาดหวังนโยบายสอดรับอนาคต

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สารี ระบุอยากเห็นนโยบายเรื่องพวกนี้ หรือที่บอกว่ามีเป้าหมายการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร คิดว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญและมากกว่านั้นคือต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ง่าย สามารถทำได้

“เป็นสิ่งท้าทาย และควรเป็นนโยบายระดับพรรคการเมืองได้แล้วว่าเราควรไปแบบไหน”….

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/2063794/?fbclid=IwAR0xJGYa1c3z6ql53P917AGJUxO9Wq_pduYsJRpeW3dma9LZ-FfMBBJvwNg

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค