สบส.ส่องโซเชียล พบ รพ.โฆษณาเข้าข่ายผิดกม.กว่า 50% เอาผิดแล้ว 150 แห่ง

สบส.ส่องโซเชียล พบ รพ.โฆษณาเข้าข่ายผิดกม.กว่า50% เอาผิดแล้ว 150 แห่งนนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง “การโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” ว่า ธุรกิจด้านการแพทย์และความงาม ถือเป็นธุรกิจที่มาแรงติดอันดับ 1 ใน 10 ของทุกๆ ปี ยิ่งหลังจากสิ้นสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนให้เริ่มหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งอาศัยการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล มาใช้ในการแข่งขันในด้านธุรกิจ

“จากการเฝ้าระวังโฆษณาสถานพยาบาลผ่านสื่อโซเชียล ของศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สบส. ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม-วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 พบว่า จากการตรวจสอบโพสต์โฆษณาสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 10,638 โพสต์ มีโพสต์ที่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายโฆษณาสถานพยาบาล จำนวน 5,483 โพสต์ คิดเป็นร้อยละ 51.5 ของจำนวนโพสต์ทั้งหมดที่ตรวจสอบ โดยมีสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโพสต์โฆษณาดังกล่าว 417 แห่ง ซึ่ง สบส.ได้ดำเนินการเปรียบเทียบคดีสถานพยาบาล ในเขตกรุงเทพมหานครไปแล้ว 150 แห่ง” นพ.สุระกล่าว

อธิบดี สบส.กล่าวว่า ผู้กระทำผิดมักจะกล่าวอ้างว่าไม่ทราบข้อกฎหมายว่าการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาลจะต้องขออนุมัติและได้รับอนุมัติให้โฆษณาสถานพยาบาลก่อนเผยแพร่ หรือรูปแบบของข้อความ ภาพ หรือเสียง แบบใดที่ทำการโฆษณาแล้วผิดกฎหมาย ดังนั้น สบส.จึงกำหนดจัดอบรม “การโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ สบส. มาร่วมให้ความรู้

ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี สบส.กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมฯ ในครั้งนี้ มุ่งเน้นในการให้รายละเอียดที่เป็นคลังความรู้ให้กับสถานพยาบาล ในด้านเชิงกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกิดความเข้าใจ สามารถดำเนินการโฆษณาสถานพยาบาลได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีการยื่นขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาลกับผู้อนุญาต คือ สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจต่อผู้รับบริการว่า โฆษณาของสถานพยาบาลดังกล่าวไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง

“ทั้งนี้ หากผู้ใดกระทำการเผยแพร่โฆษณา หรือประกาศของสถานพยาบาล เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยไม่ได้ขออนุมัติและได้รับอนุมัติจากผู้อนุญาต จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากตรวจสอบพบว่าโฆษณาดังกล่าว เข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา” นพ.ภานุวัฒน์กล่าว

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค