สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะผู้บริโภคเลี่ยงซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ไม่มีตัวกลางกำกับ เพื่อความปลอดภัย ย้ำหากต้องการซื้อควรตรวจสอบประวัติผู้ขายก่อนโอนเงินทุกครั้ง

วันนี้ (13 กันยายน 2564) ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สอบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีเข้าข่ายการลวงขายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยผู้เสียหายได้สั่งซื้อรถจักรยานไฟฟ้า ‘CNX รถจักรยานไฟฟ้า’ ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ แต่กลับไม่ได้รับสินค้า และไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ .
ขณะที่ผู้เสียหายได้แบ่งการโอนเงินค่าสินค้าให้ร้านผ่านบัญชีธนาคารจำนวน 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 1058670789 จำนวน 1,000 บาท และจำนวนอีก 300 บาท ได้โอนไปยังบัญชีธนาคารกรุงศรี เลขที่ 3311230650 ทั้งสองบัญชีใช้ชื่อบัญชีนายกิติพงศ์ ปวงกันคำ
ภัทรกร กล่าวอีกว่า เมื่อนำชื่อดังกล่าวไปตรวจสอบในเว็บไซต์ blacklistseller.com (เว็บไซต์ตรวจสอบการฉ้อโกงทางออนไลน์) พบว่า รายชื่อ ‘กิติพงศ์ ปวงกันคำ’ หรือ ‘ของขวัญ ศุภพงษ์’ (ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน) อยู่ในรายชื่อผู้ขายที่ควรระวัง และพฤติกรรมการหลอกลวงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้เสียหายไปซื้อจักรยานไฟฟ้าผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ปัญความสุข’ หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Saleeoo’ จากนั้นได้โอนเงินไปยังบัญชีที่ร้านให้มาแต่ร้านไม่ได้ส่งสินค้าให้ และหลังจากนั้นผู้เสียหายก็ไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้อีกเลย เนื่องจากถูกบล็อกจากทุกช่องทาง
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการหลอกลวงอื่น ๆ ที่ผู้ขายรายนี้ได้กระทำ เช่น หลอกลวงให้ทำงานรับจ้างแพ็คสบู่ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินมัดจำจำนวน 400 – 500 บาท แต่ก็ไม่ได้รับเงินว่าจ้าง หรือการแอบอ้างสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ และใช้กลอุบายหลอกขายระบบเก็บเงินปลายทาง แต่ของที่ได้รับกลับเป็นของปลอม หรือสินค้าไม่ตรงปก
“กรณีฉ้อโกงซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา ยังปรากฎข่าวหรือมีผู้เสียหายร้องเรียนมาที่สภาฯ อยู่อย่างต่อเนื่อง จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าบนเฟซบุ้ก ไลน์ อินสตาเเกรม หรือช่องทางที่ไม่มีตัวกลางกำกับ หากต้องการซื้อจริง ๆ นั้น ควรเริ่มต้น ด้วยการติดต่อขอเบอร์โทร สอบถามเบื้องต้น แต่หากเริ่มต้นโทรติดต่อแล้วยังติดต่อไม่ได้หรือติดต่อได้ลำบาก สันณิษฐานได้ว่าหากเกิดปัญหาแล้วอาจจะติดต่อได้ยาก .
นอกจากนี้อย่าหลงเชื่อโปรโมชันหรือราคาที่ถูกเกินจริง โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผู้ขายเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการนำชื่อ และเลขบัญชีของผู้ไปสืบค้นในเว็บไซต์ค้นหาอย่าง google หรือเว็บไซต์ blacklistseller.com เพื่อความมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อ” ภัทรกร กล่าว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สอบ. เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคต้องช่วยกันกดรายงานเฟซบุ๊กแฟนเพจที่เข้าข่ายหลอกลวงขายสินค้าไม่ให้ทำการขายสินค้าหลอกลวง หรือเเจ้งมายังศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สอบ. ‘เฝ้าระวังป้องกันดีกว่าต้องมาเป็นผู้เสียหายร้องเรียน’
ขณะที่ มีนา ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงขายสินค้าบนโซเชียลมีเดีย ระบุว่า ได้ตัดสินใจซื้อเครื่องตัดหญ้าจากเพจดังกล่าว เนื่องจากเห็นโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่ระบุว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา มีการระบุคุณสมบัติชัดเจน รวมถึงเห็นว่าสินค้ามีราคาไม่แพงมากนักจึงตัดสินใจสั่งซื้อ แต่เมื่อได้รับของกลับเป็นสินค้าที่ไม่ตรงกับที่สั่งซื้อและยังมีสเป็คต่ำกว่าที่เลือกไว้ เมื่อทวงถามไปยังเพจดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธว่าไม่ใช่สินค้าของเพจ
“เวลาเลือกซื้อสินค้าในโซเชียลมีเดียควรต้องระวังไว้ว่าอาจจะได้ของไม่ตรงปก ถึงแม้จะเก็บเงินปลายทางแต่ตอนได้รับของก็ควรถ่ายวีดีโอไว้ตั้งแต่รับของ แกะของ เพื่อยืนยันกลับได้หากถูกปฏิเสธคืนสินค้า แต่ทางที่ดีควรซื้อสินค้าจากช่องทางอื่นที่เป็นร้านค้าทางการ เช่น ช้อปปี้ หรือ ลาซาด้า ซึ่งมีช่องทางติดต่อกลับอย่างแน่นอน” ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย กล่าว
สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหาสั่งของแล้วไม่ได้ของ หรือได้รับของที่ไม่ตรงกับที่โฆษณา สามารถร้องเรียนได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค
? tcc.complaint@thaiconsumerscouncil.org
? Inbox Facebook : สภาองค์กรของผู้บริโภค
ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค