สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ปฎิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเร่งจัดซื้อ ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน WHO โดยเร็ว

– – – – –
จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 (ศปก.สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญข้อ 6 ที่ระบุไว้อย่างชัดว่า “เร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kits : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ในเวลาที่กำหนด” นั้น
.
วันนี้ (23 สิงหาคม 2564) สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเรียกร้องให้องค์การเภสัชกรรม ยุติข้อกำหนดการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kits : ATK) ที่ไม่ได้มาตรฐานการรับรองตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
.
ตามกรอบในแบบยื่นซองเสนอราคาตามการสงวนสิทธิ์ขององค์การเภสัชกรรม ในข้อ 4.1 ผู้เสนอราคาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด องค์การเภสัชกรรมจะไม่พิจารณาซื้อหรือพิจารณาซื้อรายถัดไป แล้วแต่จะเห็นสมควร และ 4.2 องค์การเภสัชกรรมทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ที่จะลดหรือเพิ่มจำนวน จะงดซื้อหรือเลือกซื้อโดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป รวมทั้งสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณายกเลิกการเสนอราคาเพื่อประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนว่าองค์การเภสัชกรรมสามารถยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ได้
.
กรณี ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU นั้น หากพิจารณาคุณสมบัติแล้ว LEPU มีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานการรับรองที่ WHO กำหนด ซึ่ง LEPU นั้นมีค่าความไว (Sensitivity) ร้อยละ 90 ความจำเพาะ (Specificity)
ร้อยละ 98 ขณะที่มาตรฐานของ WHO กำหนดค่าความไวไว้ที่ร้อยละ 95 และค่าความจำเพาะไว้ที่ร้อยละ 99
.
ความแตกต่างของตัวเลขที่ว่านี้ หากนำไปใช้ตรวจเชื้อโควิดจำนวน 8.5 ล้านครั้ง ภายใต้ความชุกของโรคที่ร้อยละ 10 จะก่อให้เกิดผลลบลวง (False Negative) เพิ่มมากถึงจำนวน 40,000 คน ซึ่งหมายความว่า การตรวจเชิงรุก จะชี้ว่า “ผู้ป่วยไม่ติดเชื้อ ทั้งที่ติดเชื้อ” และในทางกลับกัน ชี้ว่า “ติดเชื้อ” แต่ในความจริงแล้ว “ไม่ติดเชื้อ” และจะทำให้มีข้อผิดพลาดจากการตรวจเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 110,000 คน ส่งผลให้ผู้ที่มีผลตรวจระบุว่า “ติดเชื้อ” ทั้งที่ “ไม่ติดเชื้อ” จะถูกส่งตัวไปรักษาดูแลในศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด – 19 เป็นอย่างมาก
.
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า คุณภาพของ ATK ควรต้องพิจารณาจากชุดตรวจที่ให้ผลลบลวงน้อยที่สุด มีประสิทธิภาพ และความแม่นยำมากที่สุด มาเป็นลำดับแรก เพราะผลลบลวงเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยขาดโอกาสที่จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการได้รับยาจำเป็นอย่างทันการณ์ และการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ชุมชนโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ทำให้ยากต่อการควบคุมโรค ซึ่งขัดกับแนวทางการควบคุมโรคที่ต้องการให้มีการควบคุมโรคให้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
เพื่อประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการจัดซื้อ ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอและการดำเนินการ ดังนี้
.
1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรมปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีความชัดเจนในการจัดซื้อจัดจ้างให้ได้ชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพระดับที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการตรวจเชิงรุกให้น้อยที่สุด และเร่งจัดซื้อชุดตรวจที่มีคุณภาพให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเร็ว
.
2. ขอให้นายกรัฐมนตรี และสำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564
.
.
ที่มา : สภาองค์กรผู้บริโภค
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค