สรุปผลประชุมสภาองค์กรของผู้บริโภค สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1/2567

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 สภาผู้บริโภคจัดประชุมสภาองค์กรของผู้บริโภค (สมัยวิสามัญ) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านระบบประชุมออนไลน์ โดยมีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 236 องค์กร จาก 323 องค์กร รวมถึงมีกรรมการนโยบายและที่ปรึกษาสภาผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมด้วย

การประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ แนวทางการสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค แผนยุทธศาสตร์ของสภาผู้บริโภค ระยะ 5 ปี งบประมาณที่ได้รับจัดสรรประจำปีงบประมาณ 2568 และแผนแม่บทดิจิทัลของสภาผู้บริโภค (Digital Master Plan) ระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2568 – 2570

สำหรับวาระการสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค สภาผู้บริโภคได้สนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค ได้แก่ การสนับสนุนข้อมูลสำหรับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคให้กับสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค การติดตามเพื่อให้คำปรึกษาระหว่างการดำเนินงาน และการจัดพัฒนาศักยภาพให้กับองค์กรที่ได้รับการสนับสนุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการประเมินผลการทำงานร่วมกัน

เพื่อให้ทิศทางการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สภาผู้บริโภคมีการวางแผนยุทธศาสตร์ของสภาผู้บริโภค ระยะ 5 ปี หรือแผนแม่บทคุ้มครองผู้บริโภค 5 ปี ผ่านโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภค ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567 – 2571) โดยที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งมีทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญในกรอบ 5 ปี ข้างหน้าที่ได้หยิบยกมาเป็นการจัดทำแผน ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีการปรับปรุงระเบียบกฎหมาย สนับสนุนกลไกการดำเนินงานปกป้องคุ้มครองสิทธิและเยียวยาผู้บริโภค 2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เสนอให้มีระบบคุ้มครองที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบาง และพัฒนากลไกการคุ้มครองทางสังคม 3) การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ด้วยการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 4) การพัฒนากฎระเบียบ/กฎหมาย ให้ครบถ้วน ตามหลักสากล ปรับปรุงกลไกการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 5) การขับเคลื่อนงานของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในและต่างประเทศ

นอกจากประเด็นข้างต้น สำนักงานสภาผู้บริโภคได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยสำนักงบประมาณได้พิจารณางบประมาณปี 2568 เบื้องต้น จำนวน 149 ล้านบาท ให้กับสภาผู้บริโภคในการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่ประเด็นแผนแม่บทดิจิทัลนั้น สำนักงานสภาผู้บริโภคได้นำเสนอที่ประชุมที่จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงภารกิจขององค์กรเป็นหลัก ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เหมาะสมกับสภาผู้บริโภค และสามารถใช้การสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการมุ่งเน้นความปลอดภัย เลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม ประหยัดและคุ้มค่า พร้อมการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปี 2568 จะมีการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนให้องค์กรเข้าสู่การทำงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนปี 2569 จะมีการบูรณาการและเชื่อมโยงการรวมข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างกันเพื่อสร้างภาพรวมของข้อมูลให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมของข้อมูล โดยการเชื่อมต่อและแปลงข้อมูลให้สอดคล้องกัน ผ่านการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ และในปี 2570 จะมีการนำเทคโนโลยีที่สามารถประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเข้ามาปรับใช้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้จากข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค

ด้านวาระอื่น ๆ สภาผู้บริโภคได้เห็นถึงความสำคัญอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้เชิญชวนให้องค์กรสมาชิกร่วมลงชื่อเพื่อส่งข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคจากภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคในประเด็นข้างต้นเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลต่อไป

ท้ายสุด มติที่ประชุมเห็นชอบกับวาระที่ประชุมในครั้งนี้ และที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานสภาผู้บริโภคจัดทำแผนการดำเนินงานตามวาระต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิกในพื้นที่ ตลอดจนจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ทั้งนี้ การประชุมสภาองค์กรของผู้บริโภคครั้งถัดไป คาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน – กลางเดือนธันวาคม 2567

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค