เวทีสูงวัยรู้ทันโลกออนไลน์เผย ผู้สูงอายุไทยถูกหลอกบนโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ มากสุด แนะครอบครัวมีส่วนช่วยให้ความรู้

 

เมื่อ 8 เม.ย.65  สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ให้ข้อมูลผู้สูงอายุ รวมไปถึงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ ด้านหน่วยงานรัฐเห็นพ้อง โฆษณาขายสินค้าในปัจจุบันมักใช้วิธีทางการตลาดที่ดึงดูดใจ เช่น การลดราคาลงมาก ๆ ข้อความที่ใช้โฆษณาเกินจริง เผยช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊กร้อยละ 44 พร้อมแนะผู้สูงอายุต้องหาข้อมูลผู้ขาย ที่อยู่ ซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ ที่น่าเชื่อถือ และอาจปรึกษาหรือขอข้อมูลจากลูกหลานก่อนซื้อสินค้าออนไลน์

 

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การรู้เท่าทันออนไลน์เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า รวมทั้งเรื่องการใช้สินค้าและบริการเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ ขณะเดียวกันการซื้อขายสินค้าออนไลน์เหล่านี้กำลังสร้างภาระให้กับทุกคนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและการรู้เท่าทันโลกออนไลน์ ไม่ให้ถูกหลอกได้ง่าย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะร่วมกันหาแนวทางในการทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลที่มากพอ มีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี

 

ด้าน นายพศวัตน์ จุมปา หัวหน้าฝ่ายเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การโฆษณาในปัจจุบัน มักใช้วิธีการลดราคาที่มาก ๆ เพื่อดึงดูดใจ รวมถึงมักมีการใช้ความที่เกินจริง อาทิ ผลิตภัณฑ์นี้ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง ยายี่ห้อนี้ป้องกันโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การอ้างข้อมูลที่เป็นสถิติจะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรที่จะซื้อ จึงอยากฝากเตือนผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มักถูกดึงดูดด้วยการโฆษณาในลักษณะนี้ว่า อย่าเพิ่งเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ควรต้องหาข้อมูลก่อน ซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศเพราะหากเกิดปัญหาจะไม่ตามตัวผู้กระทำผิดได้ยาก นอกจากนี้ยังอาจสอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับลูกหลานที่บ้าน หรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ. หรือ อย. ในประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เสี่ยงต่อชีวิตได้หากใช้หรือทาน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการซื้อขายออนไลน์

 

ด้าน นางสาวประภารัตน์ ไชยยศ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายดูแลบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปี 2564 พบว่า ปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์มีผู้ร้องเรียนเข้ามากว่า 50,000 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งปัญหาซื้อขายออนไลน์เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง มีทั้งปัญหาได้รับของไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือหลอกขายสินค้าออนไลน์

ขณะเดียวกันช่วงอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปเป็นช่วงอายุที่พบปัญหานี้มาก มาจากการที่มีอำนาจในการซื้อสูง แต่ก็ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ

นางสาวประภารัตน์ กล่าวอีกว่า โฆษณาในปัจจุบันมักนำเสนอราคาที่ถูก มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ มีการสร้างเรื่องให้คนเชื่อและต่อมาจึงหลอกลวง รวมถึงมีการใช้ผู้สูงอายุมาเป็นพรีเซ็นเตอร์มากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวดเข่าที่นำเสนอให้เห็นว่าหากผู้สูงอายุใช้ยาตัวนี้ ต่อมาก็จะปวดเข่าน้อยลง เดินได้คล่องแคล่วขึ้น หากพบโฆษณาในลักษณะนี้ต้องการให้ไปปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ และควรตรวจสอบชื่อผู้ขาย ที่อยู่ หรือลองนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น blacklistseller.com

 

ทางด้าน นางสาวจารุวรรณ ศรีภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยมีการท่องโลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร พบปะเพื่อนฝูง และซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ และช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊กร้อยละ 44 รองลงมา คือ ไลน์ร้อยละ 31.25 และอินสตาแกรมร้อยละ 5.25 จากข้อมูลเห็นว่า ผู้สูงอายุในไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้นด้วยนั่นเอง จึงมองว่าครอบครัวมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูลความรู้ และให้คำปรึกษาได้

 

ด้าน นางสาวนิศรา แก้วสุข ผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้นำเสนอแบบเลือกสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่จัดทำขึ้นสำหรับประชาชนที่กำลังจะเลือกใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานคุณภาพ ตรงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เนื่องจากปัญหาที่ลูกหลานและผู้สูงอายุ มักเจอเวลาเลือกเข้าไปใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการบริการที่ไม่ครอบคลุม ผู้ดูแลไม่มีความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการ หรือทัศนคติในแง่ลบเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค