ผู้ใช้ ‘สิทธิบัตรทอง’ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จะได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมสนับสนุนค่าบริการให้สถานพยาบาลจัดบริการ ‘การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน’ ด้วย
แล้ว การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน คืออะไร ?
การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน หมายถึง การให้บริการสาธารณสุขกรณี ‘ผู้ป่วยใน’ ของหน่วยบริการ ณ สถานที่พำนักของผู้รับบริการนอกหน่วยบริการ โดยมีมาตรฐานการดูแลตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด
อธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือ การ ‘แอดมิท’ (Admit) ที่บ้าน นั่นเอง
หลักการสำคัญของบริการ ‘การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน’ นี้ ต้องมีมาตรฐานที่เทียบเคียงกับบริการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาล (IPD) และมาตรฐานการรักษาของแต่ละวิชาชีพ และยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (patient centered care) และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยมีกระบวนการความร่วมมือของญาติหรือผู้ดูแล (care giver) ในการร่วมดูแลและประเมินอาการผู้ป่วย รวมถึงช่วยสื่อสารกับทีมแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพ
แน่นอน การรักษาตัวที่บ้านย่อมไม่เหมือนอยู่ที่โรงพยาบาล จึงไม่ใช่ทุกคน-ทุกโรค ที่จะได้รับการบริการเช่นนี้ได้ และไม่ใช่ทุกหน่วยบริการจะสามารถจัดบริการเช่นนี้ได้ เช่นกัน
สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ ‘การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน’ จะต้องเป็นผู้ป่วย ‘ที่ได้รับการวินิจฉัยโรค’ ตามกลุ่มโรคหรือกลุ่มอาการ ตามข้อบ่งชี้ในแนวทางและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยในที่บ้านที่ สธ. กำหนด และมีรหัสโรค (ICD-10)
อย่าเพิ่ง งง
ความเข้าใจสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ‘กลุ่มโรค-กลุ่มอาการ’ ที่อยู่เกณฑ์การเข้ารับการดูแลแบบนี้ได้ มีด้วยกัน 10 กลุ่มโรค-กลุ่มอาการ หากแต่แต่ละหัวข้อยังมี ‘ข้อบ่งชี้’ เฉพาะเจาะจงลงไป ซึ่งขออนุญาตไม่นำมาบันทึกไว้ เพราะจะละเอียดและเป็นศัพท์แสงทางการแพทย์เฉพาะทาง
สำหรับ 10 กลุ่มโรค-กลุ่มอาการ ประกอบด้วย
1. โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
2. โรคความดันโลหิตสูง (severe hypertension)
3. โรคแผลกดทับและพื้นที่กดทับ (decubitus ulcer and pressure area)
4. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection)
5. โรคปอดอักเสบ (pneumonia)
6. โรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (acute appendicitis) ภายหลังได้รับการผ่าตัด
7. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
8. ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
9. โรคจิตเภท พฤติกรรมแบบโรคจิตเภท และโรคหลงผิด
10. ความผิดปกติทางอารมณ์
ในขณะที่ฟากฝั่งผู้ให้บริการ หรือหน่วยบริการต้องเป็น ‘หน่วยบริการภาครัฐ’ ที่สามารถให้บริการผู้ป่วยใน และผ่านเกณฑ์ประเมินศักยภาพการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้านตามที่ สธ. กำหนด สำหรับหน่วยบริการที่ให้บริการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ต้องผ่านการประเมินการให้บริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับตามมาตรฐานกรมการแพทย์ด้วย
สำหรับหน่วยบริการสบายใจได้ เพราะ สปสช. จะจ่ายค่าใช้จ่ายตามระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) คำนวณอัตราการจ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าแล้ว (adjRW)
อัตราที่ได้รับต่อหนึ่งหน่วยสัมพัทธ์ขึ้นอยู่กับวงเงินระดับเขตของแต่ละเขต และผลงานการส่งข้อมูลผู้ป่วยในแต่ละเดือน โดยจะได้รับค่าชดเชยเบื้องต้นด้วยอัตรา 8,350 บาท ต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าแล้วก่อนมีการปรับลดค่าแรง
ในส่วนของผู้ป่วยในจิตเวชและการบำบัดยาเสพติดที่บ้าน จะคำนวณอัตราจ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าแล้ว (adjRW) โดยจ่ายเพิ่มตามสัดส่วนค่า K ที่เป็นส่วนต่างของน้ำหนักสัมพัทธ์ (RW) ตามระบบ DRG
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า การรักษาพยาบาลกรณีที่เป็นบริการผู้ป่วยใน ปัจจุบันนอกจากบริการนอนค้างคืน (admit) ที่โรงพยาบาลแล้ว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและทางการแพทย์ที่รุดหน้า ทำให้เกิดรูปแบบบริการสุขภาพใหม่ คือ “การบริการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน” ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการดูแลและรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้โรงพยาบาลมีเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินได้
“บริการการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ในระบบบริการสุขภาพ ไม่เพียงแต่ช่วยขยายเตียงผู้ป่วยในไปที่บ้าน แต่ยังเพิ่มคุณภาพการดูแลและรักษาพยาบาลที่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเองรู้สึกอุ่นใจ ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว โดยเชื่อมต่อบริการภายใต้การดูแลของแพทย์” เลขาธิการ สปสช. ระบุ
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน พ.ศ. 2566