ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เมื่อผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจแล้ว นอกจากผู้บริโภคจะมีคำขอให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ผู้บริโภคก็ยังสามารถมีคำขอให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้บริโภคได้อีกด้วย มิฉะนั้นแล้วศาลไม่สามารถมีอำนาจพิพากษาค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้บริโภคได้ โดยที่การกำหนดจำนวนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเป็นไปตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
ดังปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ ผบ1742/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ผบ190/2565 ของศาลแขวงสงขลา ที่โจทก์ฟ้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง โจทก์ซื้อเครื่องสำอางจากร้านของผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีพนักงานของร้านชักชวนอวดอ้างสรรพคุณสินค้าว่าสามารถรักษาสิวได้อย่างแน่นอนและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ มีนักศึกษาและดาราใช้กันเป็นจำนวนมาก
โจทก์หลงเชื่อ ภายหลังจากการใช้ทำให้โจทก์เกิดอาการเป็นสิวผดขึ้นบริเวณหน้าผากและแสบที่ใบหน้าปรากฏเป็นรอยแดง การกระทำของผู้ประกอบธุรกิจเป็นการกระทำไม่เป็นไปตามโฆษณาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพอนามัย อันเป็นการละเมิดจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย
ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันความเสียหาย ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับโดยผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้เข้ามาบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ เห็นควรกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษผู้ประกอบธุรกิจด้วย ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้ศาลกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษไว้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด
ข้อมูลโดย นายอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความอาสา