“กล่องสุ่ม” สะเทือน “สคบ.” เตรียมออกกฎหมายคุมคุ้มครองผู้บริโภค เผยอาจเข้าข่ายการพนัน

“สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” เอาจริง เตรียมออกกฎหมายควบคุมการขายสินค้าประเภท “กล่องสุ่มปริศนา” เผยอาจมีความผิดตามกฎหมายการพนัน นอกจากนี้ หากสินค้าในกล่องไม่มีฉลาก และไม่ระบุราคา ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคอีก

จากกรณีแม่ค้าออนไลน์สุดฮอต “พิมรี่พาย” ได้ไลฟ์สดของสินค้าออนไลน์ในเพจพิมรี่พายขายทุกอย่าง ได้สร้างมิติใหม่แห่งการขาย หลังบิวตี้บล็อกเกอร์มาขอเปิดกล่องสุ่มเครื่องสำอาง ราคา 1 แสนบาท ได้เงิน 100 ล้านในเวลา 10 นาที
ต่อมาได้ทำการขายกล่องสุ่มราคา 1 หมื่นบาทอีกครั้ง และขายได้เงิน 100 ล้านบาท ในเวลา 5 นาที สำหรับก่อนหน้านี้ กล่องสุ่มราคา 1 แสนบาทนั้นลูกค้าได้นำออกมาเปิดเผยกันเป็นจำนวนมาก พบมีทั้งเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์จำนวนมาก และยังมีทอง, ไอโฟน ยันรถยนต์! suzuki celerio ราคาต่ำๆ ก็ 3 แสนกว่าบาทไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. มีรายงานว่า รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

“ขณะนี้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของ สคบ.เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวงเพื่อมาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่องทางออนไลน์ และมักมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งเน็ตไอดอล, ยูทูบเบอร์ หรือดารานักร้องมารีวิว และโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์, วิธีการ และเงื่อนไขต่าๆ ให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม”

ทั้งนี้ สคบ.มองว่าปัญหาสำคัญสำหรับการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรกอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากไม่ได้ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง หรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ

“ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานต้องรู้ว่าสินค้านั้นมีอะไรก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ แต่การเอาของมาใส่ในกล่องโดยไม่มีข้อมูล เป็นกล่องสุ่ม บางทีผู้โฆษณาสินค้าอาจบอกว่ากล่องนี้เอาโทรศัพท์ไอโฟนมาเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีกล่องสุ่ม 400-500 กล่อง แต่มีไอโฟนแค่กล่องเดียวอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการพิจารณากฎหมายมาควบคุมนั้น สคบ.จะพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด รีวิว ควรจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง และเท่าทันกับยุคดิจิทัลด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สคบ.เคยแจ้งเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา เพราะเห็นว่าการนำสินค้าดังกล่าวมาขายให้ผู้บริโภคในลักษณะนี้จะทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับสินค้า หรืออาจได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ซึ่งการกระทำการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงด้วย

ดังนั้น จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค หรือผู้ปกครองได้รับทราบ หากเห็นบุตรหลานของตัวเองมีการซื้อของดังกล่าวก็ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง เพราะอาจจะทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ อย่างในกรณีล่าสุดมีการขายกล่องสุ่มราคาเป็นหลักแสนบาท และมียอดขายเป็นหลัก 100 ล้านบาทในช่วงเวลาแค่ไม่กี่นาที และอาจนำไปสู่การลอกเลียนแบบจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000120968

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค