ก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ พบโซเดียมเกินเกณฑ์เมนูชูสุขภาพกรมอนามัย

ก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ “หมี่หมูน้ำตก” กับ “บะหมี่หมูแดง” พบโซเดียมเกินเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย หลังสภาผู้บริโภคร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อทดสอบโภชนาการ

เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้บริโภค ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว “ผลการทดสอบสินค้าประเภทก๋วยเตี๋ยวที่จำหน่ายในลักษณะแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยว ด้านข้อมูลโภชนาการ” ตามโครงการเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าประเภทอาหารจานเดียว ที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค อาทิ พลังงาน โปรตีน ไขมัน น้ำตาล โซเดียม

การสำรวจครั้งนี้พิจารณาจากความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารจานเดียว ประเภทก๋วยเตี๋ยวที่ขายในแบบแฟรนไชส์ โดยเลือกเก็บตัวอย่างจากสองประเภท คือ “บะหมี่หมูแดงและเส้นหมี่หมูน้ำตก” จำนวน 19 ตัวอย่าง จาก 10 ร้าน แบ่งเป็นบะหมี่หมูแดง 9 ตัวอย่าง และเส้นหมี่หมูน้ำตก 10 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีการซื้อโดยตรงจากหน้าร้าน 14 ตัวอย่าง และซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 5 ตัวอย่าง ช่วงเวลาที่เก็บตัวอย่าง ตั้งแต่เวลา 11.25 – 19.14 น. ระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2568 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ภาพจาก: เว็บไซต์ Green Network Thailand

ได้แก่ 1. ฟลุ๊คบะหมี่เกี๊ยว – พระประแดง 2. ก๋วยเตี๋ยวเรือ โกฮับ ​แจ้งวัฒนะ 3. ราชา บะหมี่เกี๊ยว ​แจ้งวัฒนะ 4. ปัญจะรส อ่อนนุช 5. ป.ประทีป​​ ​ประชาอุทิศ 6. หนานหยวน พระประแดง 7. ฟลุ๊คบะหมี่เกี๊ยว คลองสี่ รังสิต – นครนายก 8. ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ลำลูกกา ปทุมธานี 9. สหชัย บะหมี่เกี๊ยวปู หมูแดง คลองสาม ปทุมธานี 10. ก๋วยเตี๋ยวแชมป์ นายฮั้งเพ้ง​คลองสี่ รังสิต – นครนายก 11. ก๋วยเตี๋ยวเรือ โกฮับ ​​ช่องนนทรี 12. ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ​​รัชดาภิเษก 13. ก๋วยเตี๋ยวแชมป์ นายฮั้งเพ้ง รางน้ำ 14. ปัญจะรส ​ประดิษฐ์มนูธรรม 15. โกเด้ง โฮเด้ง ​พัฒนาการ 16. ราชา บะหมี่เกี๊ยว ​ดินแดง 17. โกเด้ง โฮเด้ง ลำลูกกาคลองสี่ 18. ป.ประทีป ​สุขุมวิท 50 19. สหชัย บะหมี่เกี๊ยว หมูแดง ประชาอุทิศต

และนำมาทดสอบหาปริมาณสารอาหารจากตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวทั้งหมดเพื่อคำนวณออกมาเป็นข้อมูลโภชนาการ ผ่านห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับมาตรฐาน iso 17025 การสำรวจครั้งนี้ได้เลือกดูข้อมูลปริมาณพลังงาน น้ำตาลทั้งหมด ไขมันทั้งหมด โซเดียม โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด

ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สรุปผลทดสอบข้อมูลโภชนาการอาหารจานเดียวประเภทก๋วยเตี๋ยว บะหมี่หมูแดงและเส้นหมี่หมูน้ำตก (แฟรนไชส์) ดังนี้

ปริมาณพลังงาน พบว่า

– จาก 19 ตัวอย่าง หมี่หมูน้ำตก ก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ (ตย.ที่ 2) มีค่าพลังงานมากที่สุด คือ 500 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) โดยบะหมี่หมูแดงจากร้านราชาบะหมี่เกี๊ยว (ตย.ที่ 3) มีค่าพลังงานน้อยที่สุด คือ 190 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม)

– ภาพรวม 19 ตัวอย่าง มีค่าพลังงานเฉลี่ยที่ 348 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 190 กิโลแคลอรี- สูงสุด 500 กิโลแคลอรี)** มี 8 ตัวอย่างที่มีพลังงานมากกว่าค่าเฉลี่ย และ มี 11 ตัวอย่าง มีพลังงานน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียว คือ มีปริมาณพลังงานไม่เกิน 600 กิโลแคลอรี พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์

– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีค่าพลังงานเฉลี่ยที่ 336 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) (190-463 กิโลแคลอรี)  ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตก (10 ตย.) ที่ค่าเฉลี่ยพลังงานสูงกว่า คือมีค่าเฉลี่ยที่ 360 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) (220-500 กิโลแคลอรี)

ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด พบว่า

– จาก 19 ตัวอย่าง หมี่หมูน้ำตก ก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ (ตย.ที่ 2) มีน้ำตาลมากที่สุดคือ 24 กรัม ต่อถ้วย (500 กรัม) ส่วนหมี่หมูน้ำตกจากร้านโกเด้ง โฮเด้ง (ตย.ที่17) มีน้ำตาลน้อยที่สุดคือ < 1 กรัมต่อถ้วย(500 กรัม)

– ภาพรวม 19 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำตาลทั้งหมด คือ 8.4 กรัมต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 3 กรัม และสูงสุด 24 กรัม) มี 6 ตัวอย่าง มากกว่าค่าเฉลี่ย และ มี 13 ตัวอย่าง มีน้ำตาลน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย ปริมาณสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียวซึ่งระบุว่า ควรมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 2 กรัม พบว่า มี 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 16) ผ่านเกณฑ์ อีก 16 ตัวอย่าง (ร้อยละ 84) ไม่ผ่านเกณฑ์ มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 2 กรัม

– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดเฉลี่ยที่ 5 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (2-9 กรัม) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตกมีค่าเฉลี่ยที่ 11 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (0-24 กรัม)

ปริมาณไขมันทั้งหมด พบว่า

– จาก 19 ตัวอย่าง เส้นหมี่หมูน้ำตกจากร้านก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ(ตย.ที่ 2) มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 20 กรัมต่อถ้วย (500 กรัม) ส่วนบะหมี่หมูแดง จากร้านราชา บะหมี่เกี๊ยว (ตย.ที่ 3) มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 4.5 กรัม ต่อถ้วย (500 กรัม)

– ภาพรวม 19 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยปริมาณไขมันทั้งหมด ที่ 11 กรัมต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 11 กรัม และสูงสุด 20 กรัม) โดยมี 1 ตัวอย่างมีปริมาณไขมันทั้งหมดเท่ากับค่าเฉลี่ย มี 7 ตัวอย่างมีปริมาณไขมันทั้งหมดมากกว่าค่าเฉลี่ยและ 8 ตัวอย่างมีปริมาณไขมันน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย ปริมาณสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียวซึ่งระบุว่า ควรมีปริมาณไขมันไม่เกิน 10 กรัม พบว่า 11 ตัวอย่างผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 58) และมี 8 ตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 42) มีปริมาณไขมันทั้งหมดมากกว่า 10 กรัม

– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยที่ 11 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (4.5-18 กรัม) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตกมีค่าเฉลี่ยที่ 12 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (5-20 กรัม)

ปริมาณโซเดียม พบว่า

– จาก 19 ตัวอย่าง หมี่หมูน้ำตกจากร้านปัญจะรส (ตย.ที่ 14) มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 3,820 มิลลิกรัม ต่อถ้วย (500 กรัม) ส่วนบะหมี่หมูแดง จากร้านสหชัย บะหมี่เกี๊ยว หมูแดงตัวอย่างที่ 19 มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 1,340 มิลลิกรัม ต่อถ้วย (500 กรัม)

– จากภาพรวม 19 ตัวอย่าง ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 2,512 มิลลิกรัมต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 1,340 กรัม และสูงสุด 3,820 กรัม) มี 10 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมมากกว่าค่าเฉลี่ย และ 9 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย ปริมาณสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียวซึ่งระบุว่า ควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 700 มิลลิกรัม มาพิจารณาพบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกตัวอย่าง (ร้อยละ 100)

– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีปริมาณโซเดียมทั้งหมดเฉลี่ยที่ 1,919 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (1,340-3,713 มก.) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตกมีค่าเฉลี่ยที่ 3,046 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (2,080-3,820 มก.)

ทัศนีย์ยังกล่าวถึงข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากรับประทานก๋วยเตี๋ยวจากแบรนด์เดียวกันแต่รู้สึกว่า รสชาติมีความแตกต่างกันก็อาจมาจากศิลปะการปรุงด้วย เช่น ตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวจากร้านเดียวกัน ก็พบว่ามีปริมาณโซเดียมแตกต่างกันได้มาก มีสาเหตุได้ทั้งจากการปรุง การคลุกน้ำมัน ปริมาณน้ำซุปที่ใส่ เป็นต้น

“แบรนด์หนึ่งมีหลายสาขา เราทดสอบเพียงเจ้าละ 2 สาขา หากทดสอบแบรนด์หนึ่ง 4 – 5 ตัวอย่าง เราคิดว่าจะสามารถเห็นผลความแตกต่างได้มากกว่านี้” รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ

ด้าน ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะผู้บริโภควิธีลดโซเดียมหากรับประทานก๋วยเตี๋ยวให้สั่งเป็นแบบแห้งจะทำให้ได้รับโซเดียมได้น้อยลง หรือใส่น้ำซุปน้อย ๆ แทน เพราะสารปรุงรสต่าง ๆ ละลายอยู่ในน้ำมากกว่าอยู่ในเส้น นอกจากนี้ควรชิมก่อนปรุง ลดปรุงเพิ่ม และไม่ซดน้ำซุปจนหมดถ้วยหรือสั่งผู้ขายว่าไม่ต้องใส่ผงชูรสเพิ่ม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับน้ำตาลและโซเดียมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตจะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคไตวายได้

ภาพจาก: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ส่วน โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยฝากท้องไว้กับการรับประทานอาหารนอกบ้าน  เพราะสะดวก รวดเร็ว ก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบันมีแบบซองกึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีฉลากโภชนาการให้ข้อมูลสารอาหารและส่วนประกอบต่าง ๆ กับประชาชน แต่ก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์กลับไม่มีข้อมูลที่เป็นแนวทางการบริโภคอย่างปลอดภัยให้กับประชาชนได้

สภาผู้บริโภคจึงสนับสนุนการทดสอบก๋วยเตี๋ยวที่ขายในแบบแฟรนไชส์ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจเลือกรับประทาน มุ่งหวังนำเสนอเชิงบวกไม่ได้โจมตีกล่าวหา โดยข้อมูลทั้งหมดจะมีการส่งถึงผู้ประกอบการเพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการปรับสูตรอาหารให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานของ อย.

“ปัจจุบันประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมก๋วยเตี๋ยวที่ขายในแบบแฟรนไชส์ ขณะที่ธุรกิจแบบแบบอาหารแฟรนไชส์ของทั้งในและต่างประเทศมีเข้ามาจำนวนมาก หากมีกฎ ระเบียบเข้ามาควบคุมโดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคย่อมสามารถได้รับการคุ้มครองได้“ โสภณ ระบุ

ทั้งนี้ หลังจากนี้ สภาผู้บริโภค และนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตรียมทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ เพื่อหารือปรับสูตรให้ลดสัดส่วนการปรุงรสน้ำซุปด้วยน้ำตาล เกลือ และซอสปรุงรสต่าง ๆ และเพิ่มความอร่อยกลมกล่อมด้วยน้ำซุปจากกระดูกหมู หัวไชเท้า และเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณน้ำตาลและโซเดียม สำหรับเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาสูตรก๋วยเตี๋ยวให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเมนูชูสุขภาพ หรือเมนูทางเลือกลดน้ำตาล ลดไขมัน ลดโซเดียม จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs

ผู้บริโภคสามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่อง “25 เมนูชูสุขภาพ ลดหวานมันเค็ม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” ต่อได้ที่ https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/book/download/?did=204243&id=71530&reload= และรายละเอียดผลการทดสอบ ด้านโภชนาการ ได้ที่ เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค