ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีสวมหน้ากากอนามัย ขณะรับประทานอาหาร

ตามที่ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง วิธีสวมหน้ากากอนามัย ขณะรับประทานอาหาร ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
.
จากกรณีการแชร์คลิปวิดีโอแนะนำวิธีการดัดแปลงหน้ากากอนามัย สำหรับสวมใส่ขณะรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 นั้น ทางกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า การสวมหน้ากากต้องสวมให้คลุมจมูกและใต้คาง โดยสวมตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ยกเว้นตอนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำสามารถถอดได้ แต่ต้องระมัดระวังการถอดไม่ให้สัมผัสหน้ากาก โดยถอดเก็บในถุงหรือซองพกพา และล้างมือหลังจากถอดหน้ากาก งดพูดคุยขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากาก ใช้เวลาให้น้อยที่สุด ใช้ช้อนกลางส่วนตัว รวมทั้งเว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน แยกเป็นชุดสำหรับคนเดียว โดยทางกรมอนามัยได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวแล้ว ตามลิงก์ https://bit.ly/3j1SYcL
.
ซึ่งการสวมหน้ากากไม่ถูกวิธี ไม่กระชับและการใช้หน้ากากซ้ำ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีปัญหาโรคประจำตัวหรือมีข้อห้ามทางการแพทย์ ห้ามสวมหน้ากากทุกชนิด
.
สำหรับประชาชนทั่วไปควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นตอนทานอาหารหรือดื่มน้ำ โดยไม่ดึงไว้ใต้คาง งดพูดคุย ใช้เวลาให้สั้น เลี่ยงสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก และเว้นระยะห่าง หรือเลี่ยงทานอาหารร่วมกัน หลังทานอาหารให้ล้างมือแล้วสวมหน้ากาก โดยสามารถดูคำแนะนำในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้าผ้าเมื่ออยู่นอกเคหสถาน ที่ทางกรมอนามัยได้จัดไว้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/376Fff9
.
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอนามัย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.anamai.moph.go.th หรือโทร 02 590 4000
.
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การสวมหน้ากากไม่ถูกวิธี ไม่กระชับและการใช้หน้ากากซ้ำ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำสามารถถอดหน้ากากอนามัยออกได้ โดยเก็บในถุงหรือซองพกพา และงดพูดคุยขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากาก หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน
.
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค