จี้ กสทช.กำลังทำอะไรอยู่? ควบรวมทรู – ดีแทค เลย 90 วันแล้ว เงื่อนไขลดค่าบริการ 12% เงียบฉี่ !

สภาผู้บริโภคร่อนหนังสือถึง กสทช. ถามหากรณีที่ กสทช. ได้ออกมาตรการเฉพาะหลังการควบรวมค่าย
มือถือ ทรู – ดีแทค ที่กำหนดเงื่อนไขให้มีการลดเพดานค่าบริการให้ผู้บริโภคลงร้อยละ 12 หลังการควบรวมกิจการครบ 90 วัน แต่ขณะนี้ได้ครบกำหนด 90 วันไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังไร้วี่แววการลดราคา ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคไปกว่า 20 วันแล้ว

วันนี้ (23 มิถุนายน 2566) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดทางให้มีการควบรวมบริษัทค่ายมือถือยักษ์ใหญ่สองค่าย คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ดำเนินการควบรวมตามกฎหมายได้สำเร็จในวันที่ 1 มีนาคม 2566 แม้มีการคัดค้านเนื่องจากการควบรวมอาจสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้บริการมือถือทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมมาคม ได้ออกมาตรการเฉพาะหลายประการวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ได้เพื่อกำกับติดตามการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการรายนี้เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเงื่อนไขการกำหนดอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ โดย กสทช. ได้เห็นชอบการกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนัก ตามจำนวนผู้ใช้บริการ ในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (WEIGHTED AVERAGE) ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวมกิจการแล้ว

สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับจดทะเบียนการควบบริษัท และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเงื่อนไขเรื่องอัตราค่าบริการเฉลี่ยต้องลดลงให้กับผู้ใช้บริการร้อยละ 12 จึงครบระยะเวลากำหนด 90 วันไปแล้วเมื่อวันที่ 30  พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแจ้งผลการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ทั้งที่เงื่อนไขดังกล่าวได้เป็นที่รับทราบมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว สภาผู้บริโภคจึงได้มีหนังสือถึง กสทช. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเร่งรัด กสทช. ในการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ซึ่งความล่าช้าในการปฎิบัติตามเงื่อนไขหลังการควบรวม ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการกว่า 50 ล้านเลขหมายเสียประโยชน์ที่ต้องได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นมา

               “หลัง กสทช. ปล่อยให้การควบรวมเกิดขึ้นได้แบบมีเงื่อนไข แต่ กสทช. ก็เงียบไปเลยในการรายงานต่อสาธารณะถึงเงื่อนไขการกำกับดูแล จนทำให้สังคมสงสัยว่า กสทช. กำลังทำอะไรอยู่ เพราะความล่าช้าในการกำกับดูแล ไม่เพียงส่งผลต่อผู้บริโภคในกรณี ทรู – ดีแทค เท่านั้น แต่จะเป็นบรรทัดฐานไปสู่การอนุญาตควบรวมอื่น ๆ เช่น AIS กับ 3BB ด้วย ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในสภาวะถูกลอยแพจาก กสทช. ดังนั้น กสทช. ควรต้องเร่งมือในการกำกับดูแลตามเงื่อนไขที่วางไว้ และต้องรายงานให้สังคมทราบด้วย ไม่ใช่เล่นบทเงียบแบบนี้ และคงต้องฝากเรื่องนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ช่วยติดตามทวงถามการบริหารงานของ กสทช. ด้วย และฝากรัฐบาลใหม่หาทางออกให้ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน” ประธานอนุกรรมการด้านการ
สื่อสารฯ สภาผู้บริโภค กล่าว

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค