ติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก สภาผู้บริโภคชี้ถึงเวลารื้อ พ.ร.บ.อาหารฯ

กรรมการสภาผู้บริโภค ชี้ช่องโหว่พ.ร.บ.อาหาร  2522 บังคับใช้มากว่า  45 ปี  เขียนตั้งแต่ยุคไม่มีอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์ม ทั้งนิยามไม่ครอบคลุมกลุ่มดารา อินฟลูเอนเซอร์ และการโฆษณา ยันบทลงโทษที่เบาทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

จากกรณีมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ดำเนินคดีผู้บริหารบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจขายตรงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ กล่าวหาหลอกลงทุนและหาลูกข่ายมาเป็นสมาชิกโดยไม่ได้ขายสินค้าจริง และใช้ศิลปินดาราช่วยโปรโมต ล่าสุดมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้ว 1,067 ราย เสียหายกว่า 378.2 ล้านบาทนั้น

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง  กรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มองประเด็นดิ ไอคอนกรุ๊ปว่า มีความซับซ้อน คนอาจจะมองแค่ เป็นเรื่องเข้าข่ายการหลอกลวงหรือเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่  แต่ส่วนตัวมองประเด็นความปลอดภัยด้านอาหารที่วันนี้กฎหมายบ้านเรามีช่องโหว่ ขณะที่ประสิทธิภาพของกฎหมายปัจจุบันก็ตามไม่ทัน ทําอะไรไม่ได้

กรณีดาราส่วนใหญ่รับจ้างโฆษณาหรือรับรีวิว โดยมีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ภก.ภาณุโชติ ชี้ว่า แต่เวลาถูกดำเนินคดีหรือมีเรื่องขึ้นมาดาราก็มักจะบอกว่า แค่รับจ้าง เป็นแค่พรีเซนเตอร์ รับสคริปต์มาพูด สุดท้ายความผิดก็จะถูกโยนกลับไปให้ผู้ผลิตสินค้า  ส่วนดาราจะผิดแค่การโฆษณาเกินจริง ซึ่งบทลงโทษก็เบามาก

หากจะมองให้ลึกกว่านั้น การที่ดาราโฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อเพราะว่าคําพูดของดารา แต่เขาซื้อเพราะภาพลักษณ์ดาราเชื่อถือดาราที่มีบุคลิกภาพ หน้าตาดี ยืนยันว่า ใช้จริง ผู้บริโภคเชื่อที่ตัวตน ดังนั้น ธุรกิจแบบนี้จึงนำภาพลักษณ์ของดารามาเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านสุขภาพ” ภก.ภาณุโชติ ระบุ และว่า การที่หน่วยงานรัฐตามไม่ทันทำงานไม่รวดเร็วในการเข้าไประงับ หรือเตือนภัยผู้บริโภค จับตรงไหนก็มีช่องโหว่ไปหมด จึงกลายเป็นช่องทางให้ธุรกิจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจจนใหญ่โตอย่างที่เห็น

ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนแชร์กระจายข้อมูลต่างๆ ไปอย่างรวดเร็ว ดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์เองก็แชร์ด้วยนั้น  ประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพฯ  เห็นว่า ตัวดาราหรือผู้มีชื่อเสียงจะต้องมีการกลั่นกรองก่อนจะรับรีวิวหรือเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า รวมไปถึงสื่อโทรทัศน์ รายการทีวี สำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ ด้วย

ภก.ภาณุโชติ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ …) ที่สภาผู้บริโภคเสนอแก้ไข และอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อเสนอฝ่ายนิติบัญญัตินั้น เป็นการ “ยกเครื่อง” กฎหมายอาหารที่ล้าสมัย  โดยเป็นการเติมบางส่วนเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพขึ้น  ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองจากการโฆษณาอาหารที่ไม่เป็นธรรม

“การที่สภาผู้บริโภคเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 บังคับใช้มากว่า  45 ปี ถ้าเรามองก็เห็นเลยว่า ติดกระดุมเม็ดแรกผิด โดยเฉพาะนิยามที่เขียนไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มพวกดารา อินฟลูเอนเซอร์ และการโฆษณา เขียนตั้งแต่ยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์แบบทุกวันนี้”

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522   ให้นิยาม ผู้ทําการโฆษณา ซึ่งเป็นนิยามที่กว้างมาก สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้มีการแก้ไข ‘เพิ่มคำนิยาม’ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่เป็นธรรม เช่น

เพิ่มคำนิยามคำว่า “สื่อโฆษณา” เพื่อให้ครอบคลุมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และให้การปฏิบัติสามารถบังคับได้จริง

เพิ่มบทนิยาม คำว่า ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร หมายความว่า ผู้รับอนุญาตผลิตอาหาร ผู้รับอนุญาตนำเข้าอาหาร ผู้ผลิตอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ผลิตภาชนะบรรจุหรือวัตถุสัมผัสอาหารเพื่อจำหน่าย ผู้นำเข้าภาชนะบรรจุหรือวัตถุสัมผัสอาหารเพื่อจำหน่าย ผู้จำหน่ายภาชนะบรรจุหรือสัมผัสอาหาร และหมายความ รวมถึง ผู้รับอนุญาตโฆษณาอาหารและผู้ทำการโฆษณาอาหารด้วย

“การเสนอรื้อกฎหมายอาหาร  ใครที่ทําอะไรที่เกี่ยวกับอาหารอนาคตจะครอบคลุมหมด ซึ่งก็รวมถึงดารา อินฟลูเอนเซอร์โฆษณาอาหาร จะถือว่า เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้วย และมีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ”

ภก.ภาณุโชติ กล่าวอีกว่าปัญหาช่องโหว่ของกฎหมายที่ถูกเขียนมาอย่างยาวนาน ทำให้อำนาจหน้าที่ของภาครัฐไม่ครอบคลุมและไม่เท่าทันปัญหาที่เกิด รวมถึงบทลงโทษที่ถูกบังคับใช้นั้น น้อยเกินกว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวต่อกฎหมาย ฉะนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  จะเอาทุกองคาพยพ ตั้งแต่บริษัทรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ปล่อยให้โฆษณาอาหารเกินจริง ใครเขียนสคริปต์ให้ดารา อินฟลูเอนเซอร์พูด ก็ต้องรับผิดชอบด้วย

“การรับรีวิวผลิตภัณฑ์อาหาร แต่กลับไปโยงรักษาโรค คุณต้องเอ๊ะ  หรือไม่ก็ต้องถาม อย. ก่อน ทำอย่างนี้เป็นการปกป้องตัวเอง และมีส่วนร่วมปกป้องผู้บริโภคด้วย ถ้าก่อนรับงานไม่ตรวจสอบพอเกิดเรื่องขึ้น ประชาชนจะมองคุณไม่เหมือนเดิม เท่ากับคุณทําลายวงการ ทำลายอาชีพของคุณเอง”

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค