มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้อง ศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมทรูดีแทค เหตุไม่มีอำนาจ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กรณีควบรวมทรูดีแทค ชี้เหตุ เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับมติทั้งหมด และให้มีผลย้อนหลัง
วันนี้ (8 มี.ค.2566 ) เวลา 14.00 น. นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจ จาก คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. โดยยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนมติ กสทช.กรณี อนุมัติควบรวมบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ชี้เหตุ เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษ ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติ การรวมธุรกิจระหว่าง ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้-เสีย และ ประชาชนทั่วไป , ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
การฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนมติของ กสทช. เป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช.
ในฐานะที่ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ได้รับการจัดตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิอันพึงมีพึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ที่ คณะกรรมการ กสทช. มติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติ การรวม ทรู-ดีแทค
นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า จากเหตุนี้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ส่งเสริมและประสานงานให้ผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์ การที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และ ที่ 2 เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และถือได้ว่าเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ ของผู้ฟ้องคดี ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ที่ 2
เนื่องจาก มูลนิธิฯ เห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณารับรายงานของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้พิจารณา ซึ่งบริษัททั้งสองไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการรวมธุรกิจ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 3 (1 ) ที่ระบุว่า “การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรวมกับผู้รับใบอนุญาต รายอื่นหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอันส่งผลให้สถานะของผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่ง คงอยู่และผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ตามประมาลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์หรือตามสัญญาร่วมค้า” แต่เป็นการรวมธุรกิจตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ระหว่างบริษัทมหาชนจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดโดยขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 และเพิกถอน นิติกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับมติทั้งหมด และให้มีผลย้อนหลัง
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค