รู้ไว้ 19 แพลตฟอร์มดัง เข้ากฎหมาย DPS ต้องเปิดข้อมูล – เยียวยาผู้บริโภค

ในยุคที่คนไทยสามารถคลิกเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เพียงปลายนิ้ว จากการมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลาย กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ และสร้างธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ในแพลตฟอร์มที่มีความสะดวกสูง อาจแฝงด้วยความเสี่ยงตามมา จึงนำไปสู่การจัดทำกฎหมาย DPS เพื่อร่วมดูแลและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคไม่ควรละลายหายไปในคลิกเดียว ทั้งนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความสำคัญสูงมาก สะท้อนจากมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

จากการรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กับตัวเลขในปี 2566 มีมูลค่าถึง 5.96 ล้านล้านบาท โดยช่องทาง B2C (Business-to-Consumer) หรือการขายของระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป ครองสัดส่วนถึง 51.7% ส่วนช่องทางการขายผ่านออนไลน์ยอดนิยมมีทั้ง e-Marketplace มูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท, การขายผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชันของตนเอง 1.15 ล้านล้านบาท และ Social Commerce มูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท

แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการขยายตัวที่รวดเร็วในทุกปี และยังเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย ทำให้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ธพด. 4/2568 ได้มีประกาศในเรื่อง กำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 หรือที่รู้จักกันว่า “กฎหมาย DPS” มีผลต่อแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ 19 ราย ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 ของพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีผลวันที่ 10 กรกฎาคม 2568

แพลตฟอร์มรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

กฎหมาย DPS ฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ การกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าที่มีการขายหรือการโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน โดยแพลตฟอร์มทั้ง 19 แห่งที่ถูกระบุชื่อในประกาศ ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก

ตลาดออนไลน์ ได้แก่ ช้อปปี้ (Shopee), ลาซาด้า (Lazada), ขายดี (Kaidee.com), ไลน์ช้อปปิ้ง (LINE SHOPPING), อาลีบาบา (Alibaba), น็อกน็อก (NocNoc), อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress), ดิสช็อป (Thisshop), เถาเป่า (Taobao), เทอมู (TEMU) และ อีเบย์ (eBay)

เฉพาะทาง และการประมูล ได้แก่ วันทูคาร์ (One2car.com) – ประกาศซื้อขายรถยนต์มือสอง, เอสไอเอ อี-อ๊อกชันซิสเต็ม (SIA E-AUCTION SYSTEM), รักเหมา (Rakmao), เอสซีจี โฮม (SCGHome) และ เรดดี้พลาสติก อ็อกชัน (ReadyPlastic Auction)

บริการและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ แกร็บ (Grab), วันสยาม แอปพลิเคชัน (ONESIAM Application) และ รูทส์แพลตฟอร์ม (ROOTS Platform)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

แพลตฟอร์มที่ถูกจัดเข้า “กลุ่มเสี่ยงสูง” พิจารณาจากหลายปัจจัย

  • การเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง
  • มีมูลค่าธุรกรรมจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มจากการให้บริการในไทยเกิน 100 ล้านบาทต่อปี
  • กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) แต่มีจำนวนผู้ประกอบการในไทยตั้งแต่ 100 รายขึ้นไป
  • กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับ DBD แต่มีจำนวนผู้ใช้บริการในไทยเกินกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกินร้อยละ 10 (เฉลี่ยต่อเดือน)
  • กรณีที่ผู้ใช้บริการสามารถกระทำการใด โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในรูปแบบข้อความหรือการกระทำ

บทบาทสำคัญในการดูแลผู้บริโภคที่เข้มงวดขึ้น ป้องกันการหลอกหลวง

ทั้ง 19 แพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20 ภายใต้กฎหมาย DPS ต้องดำเนินการเพิ่มเติม นอกจากหน้าที่ทั่วไปมีทั้ง

ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ขายให้ชัดเจน

  • ต้องประเมินความเสี่ยงและจัดทำมาตรการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
  • ต้องตรวจสอบและเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ขาย ก่อนอนุญาตให้ขายหรือโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน

ตรวจสอบสินค้าที่ลงขาย แสดงข้อมูลสินค้าอย่างโปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือ

  • ต้องตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งใบอนุญาต หรือเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานรัฐ เช่น ใบรับรอง อย. หรือ มอก. โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเสี่ยง ทั้ง ยา อาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
  • การแสดงข้อมูลมาตรฐานของสินค้าบนหน้าร้านค้าอย่างชัดเจน

ต้องสร้างกลไกรับเรื่องร้องเรียน และร่วมมือเยียวยาปัญหาให้กับผู้บริโภค

  • ผู้บริโภคจะมีช่องทางในการร้องเรียนและได้รับการเยียวยา ในกรณีที่ได้รับสินค้าปลอมหรือผิดกฎหมาย
  • แพลตฟอร์มต้องจัดการเรื่องร้องเรียนภายในเวลาที่กำหนด
  • ต้องกำหนดบทลงโทษ สำหรับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน

ต้องพร้อมรายงานข้อมูลให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบ

  • ต้องรายงานข้อมูลการดำเนินงานให้ภาครัฐ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบย้อนหลังได้หากมีข้อสงสัย
  • ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการรายงานและเยียวยาปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค

ต้องลบหรือแบนสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือหลอกลวง

  • มีการแจ้งเตือนข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคและพร้อมนำออกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งหมดแสดงถึงพลังของกฎหมาย DPS ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบให้แก่ผู้บริโภคได้เหมือนในอดีต มุ่งการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ประกาศขายสินค้าเท่านั้น จึงสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ และทำให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ร่วมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

อีกความโดดเด่นของกฎหมายนี้ยังมาจากรายชื่อแพลตฟอร์มที่ถูกกำกับดูแลจะมีการ “ทบทวนรายชื่อ” เป็นประจำทุกปี ตามมาตรา 24 กำหนด ทำให้รายชื่ออาจมีการเพิ่ม ลด หรือปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบการให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าออนไลน์แล้วเกิดปัญหาตามมา หรือพบผู้ให้บริการที่อยู่ในแพลตฟอร์มไม่ปฏิบัติตามประกาศในเรื่อง กำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 สามารถเข้ามาร้องเรียนได้ผ่าน เว็บไซต์ของ ETDA และสภาองค์กรของผู้บริโภคที่สายด่วน 1502

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ที่มุ่งการดูแลผู้บริโภค และร่วมป้องกันภัยทางมิจฉาชีพออนไลน์มาโดยตลอด จึงได้ร่วมกับ ETDA จัดทำเสนอข้อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ เพื่อร่วมการคุ้มครองผู้บริโภค มุ่งยกระดับการประกอบธุรกิจและการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค