“30 บาทรักษาทุกที่” เป็นนโยบายที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อขยับจาก “30 บาทรักษาทุกโรค” ในอดีต ซึ่งนับว่าเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ก็ว่าได้ เพราะทำให้สามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยสะดวกเพิ่มมากขึ้น บนหลักการ “เน้นสุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” ไม่ถูกจำกัดการเข้ารับบริการเฉพาะที่หน่วยบริการประจำเท่านั้น ไม่ว่าจะมีสิทธิบัตรทองอยู่ในจังหวัดใด เมื่อเดินทางไปในจังหวัดต่างๆ ที่ดำเนินการตามนโยบายฯ นี้ ก็สามารถเข้ารับบริการได้ ไม่ถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึง
อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ รัฐบาลเดินมาถูกทาง ซึ่งผ่านการบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงต้องมีการศึกษาวิจัยและประเมินผลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อยืนยัน และนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อเดินหน้าต่อไป…
นอกจากการศึกษาโครงการวิจัย การกำกับ ติดตาม และประเมินนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ของ สปสช. โดยมี ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ อาจารย์ภาคเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ที่มีการตีพิมพ์และนำเสนอไปแล้ว
“โครงการวิจัยการประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่นำร่อง” เป็นงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในนโยบายนี้ ดำเนินการโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ที่ได้รับมอบจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิจัย HITAP เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ซึ่งใช้เครื่องมือ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Change : TOC) ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและสัมภาษณ์ประชาชน จำนวน 1,618 คน ในจังหวัดนำร่อง ผู้ให้บริการและภาคส่วนต่างๆ ในนโยบาย เป็นการวัดผลลัพธ์และปัจจัยของความสำเร็จ…
เบื้องต้นสรุปได้ว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นเป้าหมายได้ในบางส่วน โดยเฉพาะการลดเวลารอคอย ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ที่สอดคล้องกับโครงการวิจัยฯ ของ สปสช. และที่สำคัญยังช่วยลด “ต้นทุนในการรับบริการ” ที่คำนวณจากรายการค่าใช้จ่ายได้ อาทิ ค่าเดินทาง ค่าบริโภค ค่าที่พักกรณีรับบริการต่างจังหวัด รวมไปถึงค่าเสียโอกาสจากการขาดงานของผู้ป่วยและญาติ ฯลฯ รวมถึงเป็นส่วนสนับสนุนประชาชนให้มีทักษะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นผลจากการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการรับบริการ ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อม การยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิ และการวิดีโอคอลเพื่อรับการตรวจรักษา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยฯ นี้ ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อพัฒนานโยบายฯ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มตัวชี้วัดผู้ให้บริการโดยให้ผู้รับบริการลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนเพื่อข้อมูลการรับบริการ การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพ (Personal Health Record หรือ PHR) ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มเติมการประชาสัมพันธ์หน่วยบริการที่สามารถเข้ารับบริการได้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม
Advertisement
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม โดยพบว่าหลายแห่งยังมีความกังวลของเรื่องอัตราจ่ายและความคุ้มทุนในการให้บริการ ตลอดจนความหลากหลายของระบบเบิกจ่าย ที่เป็นอุปสรรคต่อนโยบายฯ ได้
สำหรับในส่วนข้อเสนอแนะจากโครงการวิจัยฯ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาทิ การปรับตัวชี้วัดในส่วนของการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ การพัฒนารูปแบบการบริการ และตัวชี้วัดสำหรับการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่เหมาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสัญชาติ หรือผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เป็นต้น รวมถึงการพิจารณาความพร้อม และความเสถียรของแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลสุขภาพหากต้องมีการขยายบริการและพื้นที่ดำเนินงาน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการนวัตกรรมนอกเหนือจากสังกัด สธ. เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอต่อ สปสช. นั้น ให้สร้างแรงจูงใจต่อหน่วยบริการนวัตกรรมที่เหมาะสมและยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเบิกจ่าย แต่รวมถึงการพัฒนาระบบการบันทึกที่ง่ายและเสนอให้ สปสช. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพสถานบริการ มีระบบควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม
วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ได้ดำเนินการมาถึงเฟสที่ 3 46 จังหวัด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่ได้เริ่มให้บริการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงเหลือการขับเคลื่อนเพิ่มเติมในอีก 31 จังหวัด เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ต่างรอคอยการมาถึงของนโยบายฯ นี้ แม้ว่าจะล่าช้าไปบ้างแต่ก็เป็นความได้เปรียบ ด้วยข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัยทั้ง 2 โครงการ เชื่อมั่นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเดินหน้านโยบายอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป…