ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง คดีโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย เตรียมอุทธรณ์จนถึงที่สุด
วันนี้ (15 พ.ย. 2566 ) นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายและทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลเห็นว่า ตามการโฆษณาของบริษัทว่ากระทะมี8 ชั้น ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่ากระทะไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนประกอบตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากจำเลยพิสูจน์ว่ากระทะมีการเคลือบกว่า8 ชั้นจริง แต่ไม่สามารถมองเห็นการแยกชั้นเป็น 8 ชั้นด้วยตาเปล่าได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการผิดสัญญา ที่ไม่ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามโฆษณา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย กำลังเตรียมอุทธรณ์จนถึงที่สุด
ย้อนกลับไปยังต้นเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคฟ้องร้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น นั่นคือ โฆษณาได้อวดอ้างสรรพคุณ”กระทะโคเรีย คิง ใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วย หินอ่อนเงิน , หินอ่อนทอง , พร้อมด้วย เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย พร้อมระบุว่า เมื่อนำไปปรุงอาหารทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยราคา กระทะใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,900 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ”
เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อกระทะโคเรียคิง เพราะเชื่อในสรรพคุณที่ถูกระบุในโฆษณา และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อนำใช้จริงกลับไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง จึงเริ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. เข้าไปตรวจสอบ จากนั้นจึงมีกระบวนการส่งไปตรวจที่ห้องแล็บ ปรากฏว่าเนื้อกระทะโคเรียคิง ทำมาจาก “อะลูมิเนียมเสริมเหล็ก” เคลือบด้วย”พอลิเมอร์” แต่ที่สุดพีค นั่นคือ ไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะแถมชั้นเคลือบไม่ได้มี 8 ชั้น เพราะรุ่น “โกลด์ซีรีส์” มีการเคลือบเพียง 5 ชั้น ส่วนรุ่น “ไดมอนด์ซีรีส์” เคลือบเพียง 2 ชั้นเท่านั้น และยังพบประเด็นการตั้งราคาขายสูงจริง คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)” จึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด กระบวนการไม่จบแค่นั้น เพราะผู้เสียหายได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับ ตัวแทนของบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น แต่อีกฝ่ายไม่ประสงค์จะเจรจา แจ้งว่า การนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกระชั้นชิดเกินไป ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ไม่ได้ประสานหรือแจ้งวันนัดหมายใหม่ที่สะดวกมาให้ และจะดำเนินการเยียวยากับผู้บริโภคเอง โดยให้ผู้บริโภคติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัทฯ ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศเป็นตัวกลางฟ้องคดี แบบกลุ่มแทนผู้บริโภคที่เสียหายจากกระทะ โคเรีย คิง และเชื่อว่าจะเป็นคดีผู้บริโภคตัวอย่าง เพื่อทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้าและคุณภาพสินค้าเป็นไปตามที่โฆษณาให้ดีมากขึ้น
อีกทั้งคดีนี้ ยังมีประเด็นซ้อนขึ้นมา ระหว่างทาง เมื่อ นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง แกนนำผู้บริโภคจังหวัดสตูล ซึ่งเป็น 1 ใน 74 ผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรีย คิง ( Korea King ) ที่ ”โฆษณาเกินจริง” ถูกบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง”ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จ”เพื่อหวังปิดปาก ซึ่งการต่อสู้ของผู้บริโภครายนี้ ใช้เวลายาวนาน นับจากปี 2565 ในที่สุด ความเป็นธรรมได้บังเกิดขึ้นวันที่ 14 กันยายน 2566 เมื่อศาลอาญา พิพากษา”ยกฟ้อง นางกัลยทรรศน์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “การเบิกความของจำเลยไม่ใช่ประเด็นแพ้-ชนะในคดี อีกทั้งเป็นการเบิกความตามข้อเท็จจริง จึงไม่ถือเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ” ซึ่ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ให้ความช่วยเหลือด้านทนายความในการต่อสู้คดี เนื่องจากเป็นกรณีการถูกฟ้องจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภค
ทั้งนี้ นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า คดีผู้บริโภคยื่นฟ้อง ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าไม่ได้คุณภาพตามที่อวดอ้าง สามารถฟ้องร้องเป็นคดีกลุ่มได้ จากตัวอย่างของผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิงจำนวน 74 ราย ที่ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจาก บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น กระทั่งมีการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลได้มีคำสั่งให้สามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้