สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย 20 หน่วยงาน เดินหน้ารณรงค์ “วันมะเร็งโลก” ภายใต้แนวคิด ปี 2566 “Uniting our voices and taking action ชวนให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง หยุดส่งต่อข้อมูลเท็จด้านโรคมะเร็ง เนื่องในวันมะเร็งโลก หากวินิจฉัยเร็ว รักษาไว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต มีโอกาสหายขาดได้
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์การค้าเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรม “วันมะเร็งโลก” โดยมีนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ คณะผู้บริหาร ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน บุคลากรสาธารณสุข อสม. และ ประชาชน เข้าร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 80,000 คน โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคมะเร็งมาโดยตลอด โดยได้ผลักดันการดูแลรักษาโรคมะเร็งเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและนำสู่การปฏิบัติ เพิ่มขึ้นหลายประการ ได้แก่ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการตรวจอุจจาระ หากพบความผิดปกติก็สามารถตรวจคัดกรองต่อด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจหายีนผิดปกติ ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม และ การคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก นอกจากนี้ยังสนับสนุนสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากวิธี PAP smear เป็นการคัดกรองด้วยวิธีการตรวจ HPV test ทำให้ความไวและความแม่นยำในการคัดกรองโรคสูงขึ้น และเมื่อคัดกรองพบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็สามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถลัดขั้นตอนการส่งต่อในระบบปกติโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ตามนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่” (Cancer Anywhere) ซึ่งการวินิจฉัยเร็วและรักษาเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย ตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยใช้สิทธิ์มะเร็งรักษาได้ทุกที่แล้วกว่า 325,000 คน หรือ กว่า 2,900,000 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น การตรวจวินิจฉัยด้วย PET scan ยารักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ สารสกัดกัญชาเพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา และการสนับสนุนอุปกรณ์ราคาแพง เช่น เครื่องฉายแสงให้กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยรอคอยการรักษาจำนวนมาก ทั่วประเทศ ทั้งนี้สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมะเร็งโลก” โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Uniting our voices and taking action ร่วมส่งพลังเสียงและลงมือทำ” มุ่งเน้นการร่วมกันหยุดการส่งต่อข้อมูลเท็จด้านโรคมะเร็ง (Fake Cancer News) และให้กำลังใจกับผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้โดยเร็ว นอกจากการดำเนินงานของภาครัฐแล้ว สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการรับผิดชอบต่อสังคม ไม่สร้างมลภาวะหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ด้านนายแพทย์ธงชัย เพิ่มเติมว่า การที่ประชาชนใช้โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ทำให้พบว่า มีการแชร์ข้อมูลเท็จด้านโรคมะเร็งจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่หลงเชื่อข้อมูลเท็จดังกล่าวเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ได้รับการรักษาที่เหมาะสมล่าช้า ขาดโอกาสที่จะหายขาด และอาจซ้ำเติมให้โรคมะเร็งที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมา แม้จะมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เพื่อตรวจสอบและให้ข้อมูลข้อเท็จจริง แต่การแชร์ข้อมูลเท็จด้านนี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมและประชาชนในการสร้างความตระหนักและหยุดยั้งการแชร์ข้อมูลเท็จต่าง ๆ
ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “ANTI FAKECANCERNEWS:หยุดแชร์ข่าวปลอม = ลงมือทำ” โดยนายแพทย์สกานต์ เปิดเผยว่า เฟคนิวส์หรือข่าวปลอมนั้นกระทบคนหลายกลุ่ม ผู้ที่ยังไม่ป่วยก็จะกลัวโรคมะเร็ง จึงเสาะหาว่าสิ่งไหนป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่การรับข่าวสารต้องระวัง เพราะบางข้อมูลจะมีความจริงบางส่วน เช่น ข่าวปลอมที่ว่า น้ำด่างและน้ำผลไม้ปั่น ป้องกันโรคมะเร็งได้ จริง ๆ แล้ว การดื่มน้ำผักและผลไม้หลากสีจะมีวิตามิน ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ต้องพิจารณาว่า ป้องกันได้ในระดับไหน สิ่งที่น่ากลัว คือ กินน้ำเหล่านี้แล้วไม่ปรับพฤติกรรม ยังกินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ระวังมลภาวะ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งจะรู้สึกเคว้ง เชื่อเรื่องการรักษาด้วยวิธีง่าย ๆ เพราะคิดว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสง ใช้ยาเคมีบำบัดหรือการทำคีโม การผ่าตัด เป็นสิ่งที่ทรมาน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะ แผลผ่าตัดเล็กลง การใช้ยาและการฉายแสง ไม่ส่งผลต่อร่างกายมากเท่าเดิม ซึ่งคนที่เชื่อข่าวปลอมก็จะทิ้งการรักษามาตรฐาน แทนที่จะเข้าสู่การรักษา แล้วกลับมาตอนที่เป็นในระยะที่ 3-4 ซึ่งยากต่อการรักษา อีกทั้งผลิตภัณฑ์บางอย่างยิ่งซ้ำเติมอาการให้รุนแรงอีกด้วย
“สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง มากว่า 2 ปีแล้ว พบข่าวปลอม 600 กว่าเรื่อง หากมีข้อสงสัยในข้อมูลที่ได้รับมา สามารถเสิร์ชหาในเว็บไซต์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง หรือ Anti Fake Cancer News (AFCN) และยังสามารถอ่านข้อมูลจากข่าวปลอมได้ที่เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand โดยได้ทำข้อมูลความรอบรู้สู้มะเร็ง เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งที่ถูกต้องควบคู่กันไปด้วย สำหรับตัวอย่างข่าวปลอม เช่น ข่าวปลอมว่า ใช้โรลออนอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นมะเร็งเต้านม เพราะน้ำยาระงับเหงื่อมีสารประกอบโลหะ เมื่อใช้นาน ๆ จะสะสมในร่างกาย เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง รวมถึงข่าวปลอมที่ว่า การทำ Ice Bathing สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ก็ไม่จริง แม้ว่าจะมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีใช้ความเย็น แต่เครื่องมือดังกล่าวต้องมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมคือต้องติดลบหลายองศา และใช้ความเย็นจัดเฉพาะที่ตัวก้อนมะเร็งด้วยเครื่องมือพิเศษโดยแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทาง การลงแช่ในน้ำแข็งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ จึงขอย้ำให้ตั้งสติก่อนแชร์ ส่วนฝั่งที่รับข่าวสารต้องหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนจะเชื่อ” นายแพทย์สกานต์ ย้ำ
ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสริมว่า ข่าวปลอมมีทั้งที่เป็นข้อมูลที่ผิด (misinformation) การบิดเบือนข้อมูล (disinformation) หรือมีข้อเท็จจริงบางส่วน กองทุนฯ เคยทำการวิจัยพบว่า ข้อมูลสุขภาพ 1200 ข่าว 900 ชิ้นเป็นข่าวปลอม เรื่องเกี่ยวกับโรคมะเร็งก็มีเยอะมาก ดังนั้น ต้องตั้งหลักแล้วคิด แล้วจะเลือกได้อย่างถูกทาง หากนึกถึงการแพร่ระบาดของโรคระบาด ข้อมูลเฟคนิวส์ก็รุนแรงพอ ๆ กัน จึงเรียกว่า Infodemic (ภาวะข้อมูลระบาด) ผู้รับสารต้องตั้งสติ อย่าใช้ความเคยชิน เมื่อเป็นโรคแล้วต้องสลัดความกลัว ตั้งหลัก ให้กำลังใจตัวเอง รับมือกับข้อมูลข่าวสารได้ ก็จะรับมือกับโรคได้
ขณะที่ น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง อดีตผู้ป่วยมะเร็ง เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ เรื่องจริงกะเบลล์ เล่าถึงประสบการณ์การเป็นมะเร็งว่า ตอนที่เป็นมะเร็งก็สับสนข้อมูลความรู้ จะเจอกับหมอกูเกิลก่อนจะเป็นหมอจริง จึงเริ่มแชร์ประสบการณ์จริงว่า สิ่งไหนกินแล้วดีต่อร่างกาย มีผลอย่างไร หรือมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร นอกจากนี้ ยังได้รวมเครือข่ายจากหลายชมรมที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เช่น ชมรมมะเร็งเต้านม และชมรมมะเร็งลำไส้ มารวมเป็นพลังถ่ายทอดประสบการณ์ตรง เช่น ตอนที่ให้ยาคีโม แล้วลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับได้ แต่บางกรณีก็ใช้ได้กับอีกคน ซึ่งต้องพิจารณาในแต่ละเรื่อง เพราะโรคมะเร็งไม่เหมือนโรคอื่น มันจะมีเวลาโกลเดนท์ไทม์ 2-3 เดือน จะสุขภาพดีเพื่อรับยาและการรักษาที่ถูกต้อง ถูกที่ถูกเวลา โอกาสหายขาดจะสูง ทั้งนี้ อย่าให้ความกลัวทำให้ตัดสินใจผิดพลาดในชีวิต ลองสำรวจตัวเองก่อนว่า สิ่งที่คิดเป็นความจริงหรือความกลัว อยากให้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน แม้จะตัดสินใจพลาดก็เริ่มใหม่ได้
ส่วน น.ส.สุชาตา ช่วงศรี รองอันดับ 2 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 เสริมถึงประสบการณ์ตรงเรื่องโรคมะเร็งว่า ตอนนั้นปวดตรงหน้าอก รู้สึกว่าด้านข้างโตผิดปกติ ตอนแรกยังตัดสินใจไม่ตรวจ คิดว่า ลองลดความอ้วน คุมไขมัน แต่ยิ่งโตก็พบว่า ก้อนใหญ่ขึ้น ปวดมากโดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน จึงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยพบก้อนเนื้อทั้ง 2 ข้าง แพทย์จึงให้คำแนะนำและเข้าสู่กระบวนการรักษา ขอย้ำว่า หากตรวจรักษาเร็วก็จะหายได้เร็ว
สำหรับกิจกรรม “วันมะเร็งโลก” ครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวน 20 แห่ง อาทิ กรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค, มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, โรงพยาบาลในเขต จ.ปทุมธานี และภาคเอกชน อาทิ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้าเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์, บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งภาคประชาสังคม คือ มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง จัดกิจกรรม 2 ส่วน ประกอบด้วย การให้บริการประชาชน ได้แก่ ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) และส่วนนิทรรศการความรู้ อาทิ นิทรรศการ “ANTI FAKE CANCER NEWS : หยุดแชร์ข่าวปลอม = ลงมือทำ, สาธิตการตรวจเต้านมด้วยตนเอง, การเย็บหมวกและเต้านมเทียมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง, ให้คำปรึกษาการตรวจสุขภาพ, HPV Vaccine, นิทรรศการสาธิตเมนูอาหาร และนิทรรศการ Thai Cancer Society เป็นต้น