สธ. แนะฤดูฝน อย่าลืมระวังโรคไข้เลือดออก

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำช่วงฤดูฝน แพทย์/ พยาบาล รักษาผู้ป่วยมีไข้ให้คิดถึงไข้เลือดออกด้วย พร้อมให้ อสม. ชวนประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านทุก 7 วัน หากมีไข้สูง 2 วันไม่ดีขึ้น หรือช่วงไข้ลด อาการแย่ลง อ่อนเพลีย ซึม ให้รีบไปโรงพยาบาล

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกในปีนี้ (1 มกราคม-2 มิถุนายน 2564) พบผู้ป่วยแล้ว 3,366 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5–14 ปี และเด็กเล็ก แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึงร้อยละ 81 แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ หากพบผู้ป่วยมีไข้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลให้คำนึงถึงโรคไข้เลือดออกด้วย และให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการขยะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชน รวมทั้งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชวนประชาชนดูแลภายในบ้าน ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตามหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

“ในช่วงนี้ เด็กเล็ก เด็กนักเรียนยังไม่เปิดเทอม ขอให้ผู้ปกครองดูแลไม่ให้ยุงกัด สวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว นอนในมุ้ง หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว ขอย้ำว่า อย่าซื้อยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS : Nonsteroidal anti-inflammatory drug) เช่น แอสไพริน ไอบรูเฟน มากินเอง เพราะหากเป็นไข้เลือดออก จะทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 – 7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียนมีจุดแดงเล็กตามแขน ขา ลําตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม หรือหลังจากไข้ลดแล้วแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร เลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด และอุจจาระเป็นสีดํา หมดสติ ให้รีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อลดการเสียชีวิต สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่แพทย์ให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา รับประทานอาหารอ่อนและกินยาตามแพทย์สั่ง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใน 2-3 วัน

ทั้งนี้ หลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา: https://www.hfocus.org/content/2021/06/21817?fbclid=IwAR1CXP3CrAxVsedCYIkStSc6_yFU3iQWOG2wA7cjf9D4gEMy9r3IMZ4SC2o

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค