ชัดเจน! สปสช.จ่ายค่ารักษาโควิด รพ.เอกชนตามเกณฑ์เบิกจ่ายที่กำหนด ที่จ่ายไม่ครบ เพราะรพ.เบิกเกิน ล่าสุดมีแนวทางแก้ปัญหา สบส. เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเพิ่มรายการเบิกจ่ายอุปกรณ์เครื่องมือช่วยผู้ป่วยเพิ่ม 7-8 รายการตามข้อเสนอสมาคมรพ.เอกชน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 พ.ค. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรณีป่วยโควิด19 รักษาฟรี แม้ไปเอกชน รพ.ห้ามเรียกเก็บจากผู้ป่วย พร้อมชี้แจงข้อเท็จจีริงค่ารักษาโควิด โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโควิด ทางสบส.ซึ่งดูแลพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ และบังคับใชเสถานพยาบาลเอกชนทั้งประเทศ โดยได้ออกประกาศว่า โรคโควิดเป็นโรคฉุกเฉินตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ซึ่งคล้ายกับโครงการยูเซปที่ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารักษาได้ทุกรพ. โดยเมื่อประกาศแล้วทำให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่วนค่าใช้จ่ายก็ได้มีการประกาศนำเข้า ครม. โดยให้เก็บหน่วยงานของรัฐ และกำหนดให้ สปสช.เป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ในการประสานเรื่องนี้ ทำให้ผู้ป่วยรักษาโควิดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งในรพ.รัฐและเอกชน และครอบคลุมค่าตรวจแลป นอนรพ. การส่งต่อผู้ป่วย ไปจนถึงเรื่องการหลังฉีดวัคซีน และหากมีภาวะแทรกซ้อนจากวัคซีนให้นอน รพ. ก็ให้รักษาในรพ.โดยไม่คิดมูลค่า
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ก่อนอื่นขอยืนยันว่า โรคโควิดเป็นเหตุฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาลจะไม่เรียกเก็บประชาชน ให้มาเก็บที่สปสช.ทำหน้าที่เป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ โดยกรณีตรวจคัดกรองจะจ่ายจากสปสช.โดยตรง ส่วนค่ารักษาพยาบาล ทางสปสช. จะไปเรียกเก็บกับกองทุนต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายได้ตกลงกับทางรพ.แล้ว และได้ผ่านครม. จึงขอให้มั่นใจว่า รายการที่ครอบคลุมได้ครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง หากมีรายการไหนไม่เกี่ยวข้องขอให้ทาง รพ.ชี้แจงมาได้ อย่างไรก็ตาม เหตุที่มีการเรียกเก็บจากประชาชนมีอยู่ 3-4 ประเด็นเท่าที่ตรวจสอบ คือ 1. ทางรพ.บอกว่า สปสช.จ่ายเงินช้า ขณะนี้ได้แก้ไขแล้ว โดยจากเดิมเป็นเดือน ขณะนี้เหลือ 15 วัน 2.เบิกเกินกว่าราคาที่กำหนด ซึ่งจริงๆได้มีการประกาศรายการไว้ถึง 4 พันกว่ารายการ แต่บางครั้งที่รพ.เรียกเก็บมา ซึ่งเรียกเก็บมาเกินกำหนด จึงต้องขอให้ตรงตามที่กำหนดไว้ 3. ท่านเรียกเก็บเกินรายการที่ไม่มีในประกาศ ตรงนี้จะต้องมีการพิจารณาขยายเพิ่มเติม โดยให้แจ้งมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
และ 4. กติกาจะเปลี่ยนไปเรื่อยตามสถานการณ์ แต่รพ.อาจตามไม่ทัน เช่น การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งในอดีตต้องเป็นกลุ่มที่มีอาการ แต่ปัจจุบันไม่ต้องโดยได้ระบุว่า ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หมายความว่าหากแพทย์สั่งตรวจก็มีสิทธิเบิกกับ สปสช. ได้ ทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวจึงคิดว่าเป็นเหตุให้มีการเรียกเก็บจากประชาชน แต่เมื่อมีการแก้ไขแล้วก็น่าจะดีขึ้น
เมื่อถามว่ากรณีผู้ป่วยชายน้ำหนักมาก ใช้สิทธิบัตรทองโดยมีอาการเหนื่อย หอบไอ แต่ไม่มีโรคประจำตัว ไปตรวจโควิดครั้งที่ 2 ที่รพ.เอกชน ปรากฎว่าติดเชื้อ และต้องอยู่ไอซียู ซึ่งรพ.เอกชนแจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในห้องไอซียู 5 หมื่นบาทต้องทำอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตรงนี้อยู่ในเงื่อนไขรายการ เมื่อคนไข้ต้องเข้าไอซียู ไม่ต้องถูกเรียกเก็บ แต่รพ.อาจแจ้งรายการค่าใช้จ่ายให้ทราบ แต่ยืนยันไม่ต้องจ่าย เพราะท่านเป็นโควิด แม้อยู่ไอซียูก็ไม่ต้องจ่าย
นพ. ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สบส.จะแจ้งไปยังรพ.ว่า ในกรณีผู้ป่วยโควิดไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่าย เพราะอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องจ่ายเงินเอง
เมื่อถามถึงกรณีที่ทำงานให้ไปตรวจโควิดก่อนเข้าทำงาน จะครอบคลุมการตรวจโควิดหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกับบริษัทก่อน และต้องหารือกับแพทย์ว่า เงื่อนไขแบบนี้ต้องตรวจหรือไม่ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ขอใบรับรองไปยื่นกับทางบริษัท จริงๆต้องเน้นว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่มากกว่า
เมื่อถามถึงกรณีรพ.เอกชน บอกว่า ค่าใช้จ่ายบางรายการ สปสช.จ่ายไม่เต็ม ทำให้ต้องเรียกเก็บประชาชน นพ.จเด็จ กล่าวว่า กรณีนี้คล้ายกับข่าวที่มีการเก็บผู้ป่วยกว่า 9 แสนบาท ซึ่งล่าสุด รพ.ชี้แจงว่าไม่ได้เรียกเก็บ แต่ส่วนหนึ่งไปเรียกเก็บกับประกันที่ผู้ป่วยมี อีกส่วนเรียกเก็บกับ สปสช. ยกตัวอย่าง รพ.หนึ่งเรียกเก็บ สปสช.ประมาณกว่า 7 แสนบาท เป็นรายการที่กำหนดตรงตามรายการ 490 ราย ซึ่งเบิกได้จำนวนกว่า 5 แสนบาท จึงต้องมีการเจรจาตามที่ตกลง ซึ่งทำตามกติกา ส่วนอีกกลุ่มมีแสนกว่าบาท ซึ่งไม่ได้มีในรายการที่เบิก ทาง สบส.จะมีการพิจารณาและขยายรายการนี้เพื่อคืนให้รพ.หรือไม่
“ดังนั้น ที่รพ.เอกชนบางแห่งบอกว่า สปสช.เบิกได้น้อย ได้ไม่เต็ม เพราะตามรายการไม่มี ซึ่งเป็นไปตามกติกาที่ตกลงกัน เราไม่ได้ไม่จ่าย หรือจ่ายน้อย แต่เนื่องจากเป็ฯราคาที่ตกลงกัน ซึ่งเคสนี้ รพ.ยอมรับ และเข้าใจกติกา ขอย้ำว่า เราไม่ได้จ่ายในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เราจ่ายตามที่ตกลงกัน” เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่า หากท่านใดมีประกันสุขภาพจากเอกชน ทางรพ.จะเรียกเก็บก่อน ที่เหลือจึงมาเรียกเก็บจาก สปสช. ซึ่งเป็นไปตาม ครม.
ด้านนพ.ธเรศ กล่าวว่า ในขั้นตอนทางกฎหมายเราพิจารณารายการที่จำเป็น หากมีรายการที่จำเป็นเพิ่มเราก็จะทำเรื่องเสนอให้ครม.อนุมัติ ยกตัวอย่าง สมาคมรพ.เอกชนเสนอเพิ่มรายการ 7-8 รายการ ซึ่งก็จะมีการเสนอให้พิจารณาต่อไป
เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บเงินไปแล้วจะทำอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า สามารถร้องเรียนมาได้ หากทางสบส.เบอร์ 1426 ซึ่งทางอธิบดีจะดูแลให้ และดำเนินการให้รพ.คืนเงินผู้ป่วย ส่วนสปสช.ได้ประสานให้ รพ.คืนเงินและมาเก็บสปสช. ดังนั้น ร้องเรียนได้ที่สายด่วน สบส. 1426 หรือสายด่วนสปสช. 1330 ต่อ 12 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2021/05/21611?fbclid=IwAR30ekQ9Hj4OGWu0s9h6SwzqvAEctXyS_7EEbgNbCrNQs4_nktYds9k4eQ8