สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์ ผิดหวังมติ กสทช. อนุญาตควบรวม AIS – 3BB

สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวัง มติ กสทช. ที่อนุญาตควบรวม AIS – 3BB ไม่รักษาประโยชน์ผู้บริโภค และเรียกร้องเปิดเผยข้อมูลที่ว่า ‘ผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไรจากการควบรวมครั้งนี้’ ระบุการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจำกัดทางเลือกผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการ ต้องจ่ายแพงขึ้นถึงราว 9.5 – 22.9% 

 

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความผิดหวังต่อมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ที่ได้อนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB) ควบรวมกิจการได้ ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 ในการประชุมเมื่อวานนี้ (10 พฤศจิกายน 2566)

โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น สภาผู้บริโภคระบุว่า การลงมติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่รักษาผลประโยชน์ผู้บริโภค กล่าวคือ แทนที่ กสทช. จะป้องกันปัญหาการผูกขาด กลับสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น ที่แม้คณะกรรมการ กสทช. ได้ใช้อำนาจในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่มติดังกล่าวจะเพิ่มภาระผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเมื่อตลาดด้านโทรคมนาคมในประเทศกำลังเดินเข้าสู่ภาวะการผูกขาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เกิดจากการที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดนี้เปิดทางให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระดับยักษ์ใหญ่ถึง 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี 1 เดือน

ทั้งนี้จากมติข้างต้น คณะกรรมการ กสทช. ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร อีกทั้งยังส่งผลให้สภาพของระบบโทรคมนาคมในประเทศไทยถอยหลังกลับไปหลายทศวรรษ กระทบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้งจนยากเกินเยียวยาในอนาคต โดยเฉพาะสังคมไทยที่เปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผู้บริโภคกลับถูกจำกัดทางเลือก นอกจากนี้ยังทำให้การแข่งขันในระบบตลาดเสรีกลายเป็นตลาดผูกขาดเมื่อเหลือผู้แข่งระดับใหญ่เพียง 2 ราย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพิจารณาด้านหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือหลักด้านเศรษฐศาสตร์ การปล่อยให้เกิดการผูกขาดของกิจการใด ๆ ในประเทศไทยที่ยึดหลักการค้าเสรีเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะจะก่อให้เกิดการเสียเปรียบของประโยชน์สาธารณะ เป็นการละเลยสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทางเลือกในการใช้บริการ ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ข้างต้น ยังระบุว่า ปัจจุบันสังคมโลกและสังคมไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสื่อสารในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าทางด้านการสื่อสารเพื่อความบันเทิงหรือในภาวะวิกฤติ แต่เมื่อกิจการด้านสื่อเทคโนโลยีอยู่ในภาวะผูกขาดจะทำให้ราคาค่าบริการและทางเลือกที่ประชาชนเคยได้รับจะถูกตัดทอนลง ในขณะที่ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น โดยการศึกษาวิจัยที่สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการ ได้ที่ชี้ถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคหากบริษัททั้งสองได้รับว่า “ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านจะสูงขึ้นระหว่างร้อยละ 9.5 – 22.9 ซึ่งจะเป็นภาระหนักสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศมีหนี้ครัวเรือนสูงถึงกว่า 5 แสนบาทต่อครอบครัวซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการถูกบังคับซื้อบริการพ่วง การถูกลดทางเลือกการถูกจำกัดการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล”

ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอให้คณะกรรมการ กสทช. ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด เกิดประสิทธิภาพได้จริงที่จะสามารถป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งเรื่องอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ อาทิ การห้ามขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ซึ่งมีราคาต่ำที่สุดที่มีอยู่ก่อนการรวมธุรกิจ และแจ้งให้ กสทช. ทราบ พร้อมกับต้องคงคุณภาพการให้บริการและราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขาย (Package) ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมถึงการรักษาคุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามประกาศของ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัดและต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ด้อยไปกว่าเดิม

รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ โดยไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างหรือการย่อหย่อนต่อการบังคับใช้มาตรการเฉพาะของ กสทช. ที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีการควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในเดือนตุลาคม 2565

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะนำประเด็นมติ กสทช. ในครั้งนี้เดินหน้าปรึกษาและหารือร่วมกับเครือข่ายสมาชิกของสภาผู้บริโภคที่มีอยู่ทั่วประเทศ ในการดำเนินการใด ๆ ที่จะเป็นการรักษาสิทธิผู้บริโภคต่อไป

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค