เรื่องมีอยู่ว่า หญิงสาวที่เป็นผู้ร้องเรียนเข้ามากับสภาผู้บริโภคได้รับโทรศัพท์จากทางคลินิกแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าวโดยคลินิกนั้นสามารถระบุข้อมูลส่วนตัวของเธอได้หมด และอ้างว่าได้ผลตรวจมาจากที่เธอเคยตรวจสุขภาพประจำปี เธอจึงหลงเชื่อว่าเป็นคลินิกที่น่าเชื่อถือจึงรับฟังข้อมูลจากคลินิกต่อ โดยคลินิกดังกล่าวเสนอให้บริการตรวจสุขภาพด้วยการตรวจผลเลือด และวิเคราะห์ผลในแล็บให้ “ฟรี”
เมื่อถูกล่อว่าเป็นบริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย หญิงสาวคนนี้ก็ตกลงไปในบ่วงที่หนึ่งด้วยการตัดสินใจไปตรวจสุขภาพโดยไม่ลังเล แต่เมื่อไปถึงพร้อมกับคุณแม่ก็สังเกตเห็นความผิดปกติว่าในห้องตรวจมีคนอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นผู้ที่อ้างว่าเป็นแพทย์และในห้องนั้นที่มีแค่คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โดยไม่มีป้ายชื่อแพทย์ หรือใบประกอบโรคศิลป์ใด ๆ ติดไว้เลย หลังจากตรวจเลือด ต่อมาพนักงานแจ้งผลการตรวจเลือดว่าเธอมีไขมันพอกตับสูง และคุณแม่ของเธอก็เสี่ยงเป็นมะเร็ง เมื่อรับฟังข่าวร้ายด้วยความตกใจและหลงเชื่อว่าตนเองเป็นโรคไขมันพอกตับจริง พนักงานก็วางบ่วงที่สองด้วยการแนะนำนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เรียกชื่อว่าคีเลชั่น Chelation คือการล้างสารพิษออกจากเลือดและช่วยฟื้นฟูหลอดเลือด ซึ่งเมื่อรับบริการเพียง 3-4 ครั้งก็จะเห็นผล โดยค่าใช้จ่ายครั้งละ 4,500 บาทต่อครั้ง
หลังจากฟังข้อมูลที่เริ่มจากฟรีกลายเป็นการรักษาที่คิดค่าใช้จ่าย เธอจึงสอบถามชื่อแพทย์ที่ทำการตรวจจากพนักงาน แต่ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถบอกได้เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนตัว เมื่อเกิดการตั้งคำถาม พนักงานจึงหว่านล้อมด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่เป็นข้อดีของการรักษานี้ และอ้างว่าสามารถชำระค่าบริการได้แบบผ่อน 0% ต่อเดือนได้ เธอจึงเดินลงไปในบ่วงที่สาม คือ “ยอมจ่ายเงิน” แต่เมื่อพนักงานนำบัตรเครดิตไปทำการชำระเงิน เธอกลับพบว่ามีการตัดเงินเต็มจำนวนของการบริการทั้งหมดประมาณ 40,000 บาท ซึ่งทำให้เธอเกิดความไม่พอใจอย่างมาก แต่เมื่อมีการตัดเงินไปแล้วเธอจึงคิดว่าแก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากต้องเข้ารับบริการคีเลชั่น
ในวันแรกที่เธอทำคีเลชั่นก็มีอาการเวียนศีรษะอยากอาเจียน แต่พยาบาลที่ดูแลกลับบอกเพียงให้ทานยาแก้ปวดเท่านั้น หลังจากการรับบริการคีเลชั่นไปประมาณ 3 ครั้งด้วยความทรมานแล้ว เมื่อเธอได้กลับมาคลินิกอีกครั้ง กลับพบว่าคลินิกได้ถูกเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนพนักงานใหม่ทั้งหมด เธอจึงสอบถามพนักงานที่คลินิกใหม่ถึงการบริการของเธฮซึ่งได้คำตอบว่าการทำคีเลชั่นแค่ 3-4 ครั้ง ไม่สามารถรักษาอะไรได้ และแนะนำให้ทำเป็นจำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้น เธอจึงขอปรึกษาแพทย์ แต่ทางคลินิกกลับไม่ยอมให้พบ พร้อมตัดบทด้วยน้ำเสียงกระแทกกระทั้น
เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโรคและการรักษาที่ไม่สมบูรณ์ เธอจึงเริ่มค้นหาข้อมูลและพบว่ามีคนที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันจำนวนมาก จึงรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อการล่อลวงซื้อบริการสุขภาพ จึงเดินทางไปขอเงินคืน พนักงานคลินิกแจ้งว่าสามารถคืนให้ได้บางส่วน ซึ่งส่วนที่หักไปได้รวมค่าแล็บและค่าตรวจ ทั้ง ๆ ที่ก่อนเริ่มรับบริการ มีการแจ้งว่าไม่คิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้
ต่อมา เธอได้เข้าไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหลายแห่ง แต่กลับไม่ได้รับความคืบหน้าอะไร นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังบอกให้เธอถอดใจกับความเสียหายดังกล่าว เพราะกรณีเช่นนี้ไม่สามารถฟ้องร้องและเรียกเงินคืนได้ ในที่สุด เมี่อได้มาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคจึงได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคที่ได้ดำเนินการให้ผู้ร้องทำหนังสือบอกเลิกสัญญา แต่ผู้ประกอบการกลับเพิกเฉย สภาผู้บริโภคจึงยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี สุดท้ายหลังจากได้รับหมายศาล ผู้ประกอบการจึงได้คืนเงินให้ผู้เสียหายเป็นจำนวน 40,000 บาท และเงินเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิอีก 50,000 บาท
“รู้สึกยินดีและดีใจที่ได้รู้จักสภาผู้บริโภค และอยากให้ทุกคนได้รู้จักกับสภาผู้บริโภคมากกว่านี้ เพราะในวันที่ทุกหน่วยงานบอกให้เธอถอดใจกลับมีเพียงสภาผู้บริโภคที่ช่วยเหลืออย่างเธอเต็มที่” ผู้เสียหาย กล่าว
หากผู้ใดได้รับความเสียหายจากกรณีคลินิกหลอกลวงเงินเช่นนี้ สามารถร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภคให้ดำเนินการฟ้องร้องจนถึงที่สุดได้ เพราะการไม่มีการร้องเรียนและดำเนินการทางกฎหมาย อาจจะทำให้มีผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นอีกมาก และธุรกิจสุขภาพเถื่อนก็ยังลอยนวลต่อไป
เพื่อเป็นความรู้เท่าทันคลินิกเถื่อน ผู้บริโภคควรทำอย่างไรก่อนตกเป็นเหยื่อ
- อย่าหลงเชื่อคำว่าบริการ “ฟรี” ที่มักจะถูกใช้มาล่อผู้บริโภคที่คิดว่าจะไปลองดูเพราะ “ไม่ต้องเสียอะไร” แต่สุดท้ายมักจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงทั้งการเงิน ความเสียหายทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ
- หากสนใจรับบริการ ก่อนไปควรตรวจสอบคลินิกว่าได้รับอนุญาติให้ประกอบการหรือไม่ที่ https://privatehospital.hss.moph.go.th/ หรือโทรศัพท์ 02 193 7000 โดยใส่ชื่อของสถานพยาบาลหรือคลินิกเป็นภาษาไทยให้ถูกต้อง ซึ่งคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายส่วนมากจะมีเลขหมายใบอนุญาติการประกอบการติดตั้งในที่ที่เห็นได้ง่าย
- เมื่อไปถึงสถานที่แล้ว ก่อนการเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ควรตรวจสอบชื่อและนามสกุลผู้ให้บริการทางการแพทย์ว่าเป็นแพทย์ที่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์หรือไม่ ที่ https://checkmd.tmc.or.th/ โดยสะกดชื่อ-นามสกุลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้อง
- หากรับผลการวิเคราะห์โรคทางแล็บแล้ว ต้องมีความเข้าใจว่า แพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์เท่านั้น ที่สามารถเป็นผู้วิเคราะห์โรคจากผลแล็บและให้คำแนะนำวิธีการรักษาทางการแพทย์ได้ เจ้าหน้าที่อื่น ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่แล็บไม่สามารถเป็นผู้วิเคราะห์โรค หรือแจ้งโรคได้
- ไม่ควรตัดสินใจซื้อบริการทันที่ เพราะการตัดสินใจทันที อาจเกิดจากการถูกโน้มน้าวจิตใจ หรือกดดดันให้ซื้อบริการจากพนักงานขายที่อยู่ในภาพผู้ให้บริการทางการสาธารณะสุข และควรใช้เวลาศึกษาวิธีการรักษาอย่างละเอียดก่อนที่จะเข้ารับการรักษา หากยังไม่แน่ใจควรปฏิเสธไปก่อน
- หากมีการหักเงินโดยไม่สมัครใจควรเรียกร้องเงินคืนทันที กรณีที่ถูกตัดเงินในบัตรเกินกว่าที่ตกลงไว้ ให้ทางพนักงานทำการยกเลิกสลิปใบแรกทันที หากพนักงานปฏิเสธ ให้เข้าบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ และทำการติดต่อที่ธนาคารเพื่อแจ้งว่า คุณได้ทำการชำระเกินวงเงินที่เรียกเก็บ แล้วมีความประสงค์ขอเงินส่วนที่เกินคืน ทางธนาคารอาจขอให้ผู้ถือบัตรส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบการพิจารณาคืนเงิน ส่วนเอกสารที่ใช้ขอเงินส่วนเกินคืนมีอะไรบ้างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเป็นผู้กำหนด เมื่อเอกสารครบถ้วนธนาคารจะทำการโอนเงินส่วนที่เกินเข้าบัญชีของคุณ ทั้งนี้ในบางกรณีธนาคารอาจเสนอให้ยกยอดที่ชำระเกินไปตัดค่าบัตรเครดิตในรอบบิลถัดไปแทน
- ก่อนการรับบริการทางการแพทย์ ผู้บริโภคมีสิทธิหาความเห็นที่สอง (second opinion) จากแพทย์ผู้เชียวชาญอื่น ที่สถานพยาบาลอื่น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการวิเคราะห์โรคนั้นถูกต้อง และเพื่อหาทางเลือกอื่น ๆ ในการรับบริการทางการแพทย์