อย. – ภาคปชช. เปิดมิติร่วมมือเชิงรุก เร่ง เฝ้าระวัง – จับโฆษณาลวง

สภาผู้บริโภค ผนึกกำลังกับ อย. ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค หลังที่ผ่านมาผู้บริโภคพบปัญหาโฆษณาเกินจริง – การแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายล่าช้า พร้อมหารือผลักดันร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เตรียมอบรมแผนเฝ้าระวังและเตือนภัย ร่วมกันระหว่าง อย. และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่รวดเร็วและหน่วยงานสามารถจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ทันท่วงที

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ได้หารือแนวทางการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขยายความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในประเด็นด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคพบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศแต่ไม่มีการติดฉลากภาษาไทย หรือการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจนส่งผลให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อไปรับประทาน

มลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงประเด็นที่สภาผู้บริโภคนำมาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับ อย. นั้นมี 5 ประเด็น ได้แก่ 1. ให้การสนับสนุน อย. ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาในกฎหมายฉบับเก่าอาจไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบริบทของสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 2. การผลักดันระบบเฝ้าระวังเตือนภัยที่ให้ภาคประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม หากพบประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงการแจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือที่ตั้งของโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยที่ภาคประชาชนในท้องถิ่นสามารถร้องเรียนและแจ้งเตือนภัยเข้ามาในระบบเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทำให้เกิดการจัดการปัญหาได้อย่างฉับไว

3. เสนอให้ อย. เร่งผลักดันระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อข้อมูลและแจ้งเตือนภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งเพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสามารถป้องกันตัวเองจากผลิตภัณฑ์อันตรายได้ 4. เสนอให้มีการหาแนวทางในการตรวจสอบและทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชิ้นที่นำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายในประเทศไทย ต้องมีการติดฉลากภาษาไทย และ 5. เสนอให้มีแนวทางการดำเนินการต่อผลิตภัณฑ์อาหารและยาี่โฆษณาเกินจริงที่มีจำนวนมากที่ปรากฎในระบบออนไลน์ รวมทั้งการทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันโฆษณาเหล่านั้น และไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย

ด้าน ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงการทำงานของสภาผู้บริโภคที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคและช่วยเหลือให้คำปรึกษา เจรจา ไกล่เกลี่ย จนถึงการฟ้องร้องคดีหากผู้ประกอบการหรือหน่วยงานเพิกเฉย ในขณะเดียวกัน สภาผู้บริโภคยังได้มีการส่งข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคถึงคณะรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแจ้งการละเลยการกระทำที่กระทบสิทธิผู้บริโภคไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเรียกร้องให้ อย. และกรมประมงเร่งชี้แจงมาตรการและแนวทางการป้องกันและตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น หลังมีข้อมูลว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วลงทะเล ซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นว่าหากผู้บริโภครับประทานอาหารทะเลปนเปื้อนสารอันตรายอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้รับทราบว่า อย. ได้ออกมาให้ข้อมูลและแจ้งว่าได้ตรวจสอบแล้วตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นระบุว่าจะปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วลงทะเล แต่อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า อย. ควรอธิบายถึงรายละเอียดในการทำงานให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบมากกว่าที่เป็นอยู่ อาทิ แจ้งว่า อย. มีขั้นตอนการตรวจสอบมีอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการของ อย. และเกิดความสบายใจในการบริโภคมากขึ้น

“เมื่อพบผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภค สภาผู้บริโภคหรือภาคประชาชนได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองได้รวดเร็ว และเราจะยิ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกร้องไปว่าได้รับการตอบกลับหรือมีการจัดการปัญหาอย่างไร ซึ่งหากข้อมูลที่ส่งไปไม่ครบถ้วน ก็เชื่อว่าเครือข่ายผู้บริโภคหรือเครือข่ายภาคประชาชนต่าง ๆ จะกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หน่วยงานต้องการ ทั้งนี้การที่ภาคประชาชนรายงานผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายหรือผลิตภัณฑ์อันตรายอาจถือได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถเป็นหูเป็นตาในการทำงานเฝ้าระวังร่วมกันให้กับหน่วยงานของรัฐได้” ภาณุโชติ กล่าว

ทั้งนี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า หนึ่งในอำนาจหน้าที่ของสภาผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 คือ การที่สภาผู้บริโภคสามารถจัดทดสอบและเฝ้าระวังสินค้าและบริการ รวมทั้งสามารถเปิดเผยชื่อผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจได้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการจัดการทดสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายประเภท

ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว การสำรวจราคาผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยและราคาชุดตรวจโควิด19 (ATK) การเฝ้าระวังปัญหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาน้ำสมุนไพร ยาโมลนูพิราเวียร์ ยาฟาวิพิราเวียร์ การเฝ้าระวังปัญหาการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อทาคาตะ (TAKATA) ออกจากรถยนต์ การทดสอบระบบระบบเบรกเอบีเอส (ABS) ในรถจักรยานยนต์ การทดสอบหมวกนิรภัย การทดสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ การทดสอบสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท การเฝ้าระวังการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซีดาพ ที่มีรายงานว่าพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในบะหมี่ หรือแม้แต่การร่วมมือกับกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรของ อย. เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตจำหน่ายหรือไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. จำนวน 20 ตัว

จากข้อมูลข้างต้น สารีเน้นว่า หากเป็นการทดสอบหรือการเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น อย.สามารถใช้ผลทดสอบของสภาผู้บริโภคไปดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องทดสอบใหม่ รวมถึงการดำเนินการต่อผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย การแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หรือการนำข้อมูลไปใช้เพื่อออกมาตรการหรือข้อบังคับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคต้องการเห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการที่จะนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันได้เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการสุ่มตรวจ เช่นในกรณีการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างสภาผู้บริโภคและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หลังจากที่สภาผู้บริโภคได้ทำการทดสอบความปลอดภัยของหมวกนิรภัยนั้น สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอและผลทดสอบให้กับ สมอ. ซึ่ง สมอ. ได้นำผลทดสอบดังกล่าวไปดำเนินการต่อ

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญคือการติดตามเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ส่งเข้ามายัง อย. ซึ่งสภาผู้บริโภคเสนอให้มีการจัดระบบใหม่ให้ปรับการติดตามเรื่องร้องเรียนในลักษณะเดียวกันกับการติดตามเส้นทางการส่งพัสดุ (Tracking) ว่าจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงสถานะเรื่องร้องเรียนได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนประเด็นพื้นที่ในการกำกับดูแลอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น หากเป็นพื้นที่ที่ อย. ไม่มีอาสาสมัครในการกำกับดูแลหลังผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ท้องตลาด สภาผู้บริโภคจะช่วยดำเนินสำรวจดูว่า หากเป็นพื้นที่ที่สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกอยู่ก็อาจทำให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลมาให้กับ อย. เพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาได้

ด้าน ตัวแทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ปรกชล อู๋ทรัพย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยแพนมีการทดสอบการปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมีอันตรายในผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการทดสอบตามกระบวนการที่ได้มาตรฐานและการเก็บหลักฐานที่ครบถ้วน แต่เมื่อส่งผลทดสอบไปยัง อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารเพื่อให้ดำเนินการกลับพบว่า อย. ต้องนำพืชผักผลไม้เหล่านั้นมาสอบอีกครั้งซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนให้กับ อย. ในขณะเดียวกัน การตรวจสอบซ้ำอีกครั้งกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคล่าช้าลงโดยไม่จำเป็น อีกสิ่งหนึ่งที่เครือข่ายไทยแพนต้องการเห็นคือระบบเฝ้าระวังด้านอาหารในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพหากได้มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกับระบบในทวีปยุโรปที่มีการแจ้งเตือนความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับคน และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Foods and Feeds : RASFF) โดยระบบดังกล่าวจะแจ้งข้อมูลแก่ประเทศที่เข้าร่วมในเครือข่าย RASFF ให้ทราบถึงความผิดปกติของสินค้าอาหารสำหรับคน และอาหารสัตว์ที่นําเข้าทางเมืองท่าต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปในกรณีที่พบว่าสินค้าเหล่านั้นมีความเสี่ยงโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสุขภาพมนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีการดําเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อสินค้าอาหารนั้นต่อไป

ในการร่วมหารือครั้งนี้ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. พร้อมร่วมมือในทุกกรณีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ร่วมกับภาคประชาชน รวมทั้งสภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด และในอนาคตหากพบประเด็นปัญหาผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายจากการเฝ้าระวังสามารถส่งเข้าไปที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทันที ส่วนการดำเนินการต่อสินค้าที่โฆษณาเกินจริงนั้น อย. ยอมรับว่าจำนวนคนทำงานไม่เพียงพอกับปริมาณการโฆษณาเกินจริงที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น แต่ทั้งนี้หากผู้ใดพบก็สามารถส่งเรื่องเข้าไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ อย. จะไปดำเนินการต่อทันที นอกจากนี้ อย. กำลังปรับปรุงระบบต่าง ๆ ที่มีความล่าช้าหรือทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ให้รวดเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่นั้น นพ. ณรงค์ยืนยันว่าจะเสนอร่างดังกล่าวให้ ครม. พิจารณา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนั้นแล้ว นพ.ณรงค์ ระบุอีกว่า ปัจจุบัน อย. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการในการกำกับดูแลหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด (Post – Marketing) แล้วไปบางส่วน และต้องการให้สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคช่วยพิจารณาร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในเร็ว ๆ นี้ นพ. ณรงค์คาดว่าจะมีการสร้างความร่วมมือในการจัดทำแผนเฝ้าระวังและเตือนภัยร่วมกันระหว่าง อย. และเครือข่ายภาคประชาชน โดยถอดบทเรียนด้วยการอ้างอิงรูปแบบจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคและกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรของ อย. อย่างไรก็ตามหากองค์กรภาคประชาชนมีการจัดประชุม มีการเปิดเผยผลทดสอบหรือผลการเฝ้าระวัง อย. ก็ยินดีที่จะเข้าก็ยินดีที่จะเข้าไปร่วมแถลงข่าว เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค