เรียกร้องซีพีชี้แจง ปมเนื้อหมูติดเชื้อเวียดนาม หวั่นกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ปัญหาเนื้อหมูติดเชื้อ เป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้บริโภค จากกรณีที่ สำนักข่าวบีบีซีนิวส์ไทยได้เผยแพร่รายงานข่าวเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2568 บริษัท ซี.พี. เวียดนาม จำกัด จำหน่ายเนื้อหมูติดเชื้อสู่ตลาดเวียดนาม กลายเป็นประเด็นร้อนกับผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออดีตพนักงานออกมาเปิดโปงว่าบริษัทเคยจำหน่ายเนื้อหมูที่มีการติดเชื้อเข้าสู่ตลาดจังหวัดซ็อกจาก พร้อมแนบภาพหลักฐานหมูที่มีจุดแดงทั่วตัว ซึ่งเป็นภาพตั้งแต่ปี 2565

แม้บริษัท ซี.พี. เวียดนาม จะยอมรับว่าภาพเนื้อหมูที่ถูกเผยแพร่เป็นของจริง และยืนยันว่าเนื้อหมูป่วยไม่ได้ถูกส่งออกจำหน่าย แต่ถูกต้มสุกเพื่อนำไปทำอาหารปลานั้น แต่คำชี้แจงไม่สามารถคลายข้อสงสัยได้ทั้งหมด เมื่อหน่วยงานรัฐเวียดนามออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของวิธีการกำจัดซากสัตว์ และการประทับตราสัญลักษณ์บนหมูที่ขัดกับระเบียบการกำกับดูแล เนื่องจากตราสี่เหลี่ยมที่ปรากฏในภาพนั้นโดยปกติจะใช้กับหมูที่ผ่านมาตรฐานเพื่อจำหน่าย ไม่ใช่เพื่อทำลาย

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรของเวียดนามได้ชี้ว่า วิธีทำลายซากหมูที่ติดเชื้อควรใช้วิธีเผา ฝังกลบ หรือสารเคมี ไม่ใช่นำไปทำอาหารสัตว์ เพราะเสี่ยงต่อสุขอนามัยในวงกว้าง ด้านผลการตรวจสอบร้าน CP Fresh Shop ในพื้นที่พบว่าแม้ไม่มีเนื้อหมูติดเชื้อ แต่กลับพบใบอนุญาตด้านความปลอดภัยหมดอายุใน 3 สาขา

สำหรับประเทศไทย สภาผู้บริโภคเองตระหนักว่าประเด็นนี้อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความปลอดภัย จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 เพื่อสอบถามข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้แก่ ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่ในไทยกับซี.พี.เวียดนาม ทั้งในด้านโครงสร้างองค์กร ระบบการผลิต และมาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนมาตรการควบคุมเมื่อพบสัตว์ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางขายในประเทศไทยมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ทางบริษัทซีพีเอฟได้ชี้แจงกลับมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ว่า ซี.พี.เวียดนามเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินงานแยกจากกันอย่างชัดเจน และกรณีภาพหมูที่มีจุดแดงบนผิวหนังนั้น เป็นเหตุการณ์ในปี 2565 โดยบริษัทระบุว่าไม่ได้เป็นโรค แต่เกิดจากยุงกัดซากหมูขณะพักในโรงเชือด ทั้งนี้ หมูดังกล่าวไม่ได้ถูกนำออกสู่ตลาด และมีการแก้ไขข้อผิดพลาดเรื่องการประทับตราในทันที

ด้านทางการเวียดนามได้สรุปผลสอบสวนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 ว่า ซี.พี. เวียดนาม ไม่ได้ละเมิดกฎหมายด้านความปลอดภัยอาหาร จึงมีคำสั่งไม่ดำเนินคดีกับบริษัทในข้อหา ละเมิดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทางอาคาร ขณะที่การตรวจสอบร้าน CP Fresh Shop ในเวียดนาม 4 แห่ง ไม่พบเนื้อหมูเน่าเสียหรือปนเปื้อน แต่มี 3 ร้านที่ใบอนุญาตด้านความปลอดภัยหมดอายุ ซึ่งบริษัทถูกสั่งปรับแล้ว

ทั้งนี้ ซีพีเอฟย้ำว่าผลิตภัณฑ์เนื้อหมูและเนื้อไก่ในเครือซี.พี.ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั้งในระดับประเทศและสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม การบริโภคไม่ควรแลกมาด้วยความเสี่ยงใด ๆ ผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่ปลอดภัย มีคุณภาพได้มาตรฐาน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หากผู้บริโภคพบความผิดปกติ หรือได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภคได้ที่ สายด่วน 1502 หรือผ่านเว็บไซต์ https://complaint.tcc.or.th/complaint

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค