แบงก์ชงเลื่อนบังคับใช้ “เสียบบัตร” ยืนยันตัวตนฝากเงินเครื่อง CDM ออกไปก่อน ระบุต้องถกร่วมกับ ปปง. อีกรอบต้นเดือน พ.ย.นี้ ชี้การใช้งานต้อง “ราบรื่น-ลดผลกระทบผู้ใช้บริการ” ขณะที่ “แบงก์กรุงเทพ-กสิกรไทย” แจงต้องลงทุนพัฒนาระบบเพิ่ม-ทดสอบการใช้งาน อาจต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในต้นเดือน พ.ย.นี้ สมาคมธนาคารไทย (TBA) พร้อมด้วยธนาคารสมาชิก และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประชุมร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ในประเด็นเรื่องขั้นตอนการฝากเงินผ่านเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (CDM) ที่จะต้องยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่ก่อนหน้านี้ กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ล่าสุดภายหลังจากสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกประชุมร่วมกัน ก็มีแนวคิดให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน แต่ยังไม่ได้มีการระบุว่าจะเลื่อนการบังคับใช้ไปเมื่อไร เนื่องจากต้องรอการประชุมร่วมกับ ปปง.ก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าควรจะให้สถาบันการเงินกลับมาพิจารณากระบวนการ วิธีการ เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือบังคับใช้เพื่อไม่ให้สะดุด และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
“สมาคมแบงก์ประชุมร่วมกัน และเห็นน่าจะเลื่อนใช้มาตรการดังกล่าวไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้มาดูกระบวนการ วิธีการอีกนิดหน่อย เพื่อให้ smooth ก่อนใช้ แต่อย่างไรก็ดี จะต้องมีการประชุมกับ ปปง.อีกทีในต้นเดือนหน้า จึงจะมีความชัดเจน โดยเบื้องต้นน่าจะมีการเลื่อนใช้จาก 15 พ.ย.นี้ ออกไปก่อน” แหล่งข่าวกล่าว
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มาตรการยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง CDM เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ปปง. ซึ่งธนาคารได้เตรียมความพร้อมในการรองรับการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต แต่อาจจะต้องพิจารณาการรองรับการยืนยันตัวตนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ผ่านวิธีอื่น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน
โดยในขั้นตอนนี้อาจจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละธนาคารที่จะต้องมีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้รองรับการอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งใช้เวลาพอสมควร
“ธนาคารได้วางแผนการรองรับมาตรการดังกล่าวเป็น 2 เฟส เฟสแรก คือ ขึ้นระบบรองรับการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่จะต้องมีการสั่งซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม เนื่องจากบางเครื่องยังไม่สามารถยืนยันตัวตนแบบ dip ship ได้ ประกอบกับจะต้องรอความชัดเจนจากสมาคมธนาคารไทยอีกครั้งในการบังคับใช้ และเฟสสอง
จะเป็นการยืนยันตัวตนผ่านวิธีอื่น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือการยืนยันตัวตนบนโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่น ในส่วนของฟีเจอร์ฝากเงิน ซึ่งเฟสนี้อาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากจะต้องมีการทดสอบเชิงเทคนิค การจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องอ่านข้อมูล (reader card) การติดตั้ง และการทดสอบพัฒนาระบบ รวมถึงต้องดูทีมงานพัฒนาระบบไอที คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน” นางปรัศนีกล่าว
ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการหาวิธีเพื่อรองรับการยืนยันตัวตน หรือ e-KYC ด้วยวิธีการด้านอื่น ๆ อยู่ เช่น การใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือผ่านแอป โมบายแบงกิ้ง เป็นต้น
เนื่องจากลูกค้าที่ไม่มีบัตรเดบิต หรือเอทีเอ็ม มีเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งพบว่าลูกค้าที่มาใช้บริการฝากเงินผ่านเครื่อง CDM เข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร จึงทำให้ไม่ได้มีบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต ซึ่งส่วนนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก จึงต้องเร่งหาวิธีการรองรับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนวิธีการรองรับการยืนยันตัวตนผ่านบัตรประจำตัวประชาชนยอมรับว่ามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าการใช้วิธีการยืนยันตัวตนผ่านโมบายแบงกิ้ง เนื่องจากธนาคารจะต้องมีการลงทุนซื้อเครื่องอ่านข้อมูลบัตรเพิ่มเติม รวมถึงพัฒนาระบบให้เครื่อง CDM รองรับการใช้ได้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควรกว่าจะสามารถให้บริการได้“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างคุยกันว่าจะเลือกใช้การยืนยันตัวตนด้วยอะไรได้บ้าง หากไม่ใช้บัตรเดบิต เครดิต เพราะประชากรที่ไม่มีบัตรก็มีค่อนข้างเยอะ แต่เราจะเลือกใช้อะไรมาแทน ซึ่งก็คุยกันว่าจะมีบัตรประชาชน โมบายแบงกิ้ง แต่บัตรประชาชนก็จะแพงหน่อย ลงทุนเพิ่ม และอัพเกรดระบบ CDM ให้รองรับ ตอนนี้ดูวิธีการอยู่” ดร.พิพัฒน์พงศ์กล่าว