เคยไหม ใช้สิทธิบัตรทอง แต่ยังถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม ผู้บริโภครายหนึ่งจ่าย 8,000 บาท โดยเข้าใจว่าเป็นค่ารักษาพยาบาล ก่อนมารู้ความจริงทีหลัง ว่าคือค่าใช้จ่ายนอกเหนือการรักษา
ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าว่า ได้ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่งเพื่อผ่าตัดหัวเข่าโดยใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2568 และถูกเรียกเก็บเงินค่าส่วนต่าง ซึ่งผู้บริโภคคิดว่าเป็นค่ารักษาที่ไม่ครอบคลุมในการใช้สิทธิบัตรทอง ดังนั้น จึงชำระเงินไปจำนวน 8,000 บาท แต่เมื่อตรวจสอบใบเสร็จพบว่ารายการจ่ายเงินไม่ระบุว่าเป็นค่าอะไร ระบุเพียงว่า “ค่าบริการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรง”
เมื่อเห็นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม ผู้บริโภคจึงได้ร้องเรียนมาที่หน่วยงานประจำจังหวัดนครปฐม สภาผู้บริโภค หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนหน่วยงานฯ ได้ประสานไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และทราบว่าการเรียกเก็บเงินข้างต้นเป็นการเรียกเก็บเงินบริจาคของโรงพยาบาล โดยที่ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าเป็นค่ารักษาที่อยู่นอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง และสุดท้ายหน่วยงานฯ สามารถเจรจาคืนเงินให้กับผู้บริโภคครบทั้ง 8,000 บาท
กรณีดังกล่าวสภาผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้บริโภคที่ใช้สิทธิบัตรทอง หากถูกเรียกเก็บเงิน และเข้าใจว่าเป็นค่ารักษาที่ไม่ครอบคลุมจากสิทธิบัตรทองนั้นอาจทำให้ต้องสูญเงินไปหากไม่ทักท้วง หรือปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งเรื่องราวของผู้บริโภครายนี้ถือเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้บริโภครายอื่นได้ตระหนักถึงการเรียกร้องสิทธิของตัวเองที่ต้องได้รับความเป็นธรรม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
บัตรทองคืออะไร? รู้จักสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย
สำเร็จ! ผู้บริโภคได้รับการเยียวยา กรณีถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาไม่เป็นธรรม
สิทธิบัตรทองจ่ายไม่เกิน 30 บาท! ชี้ รักษาสุขภาพ ปชช. ห้ามเก็บเงินเพิ่ม
ใช้บัตรทองแล้วถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มเติม ผิดหรือไม่?
โดยหลักการของสิทธิบัตรทอง ผู้บริโภคมีสิทธิสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ยังมีผู้บริโภคบางรายที่พบปัญหาถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ ทั้งที่ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ (Extra Billing) เช่น การถูกเรียกเก็บค่าบริการนอกเวลา ถูกเรียกเก็บเงินยานอกบัญชี ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สปสช. ควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในระบบสาธารณสุข ด้วยการสร้างความเข้าใจการใช้สิทธิบัตรทอง ในกรณีที่เป็นการเข้ารับบริการภายใต้สิทธิประโยชน์และขอบเขตบริการ และหน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ขอให้ผู้บริโภครักษาสิทธิของตัวเอง ด้วยการตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนชำระเงิน เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้อง การเรียกชำระเงินค่าบริการพิเศษนั้น เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะหน่วยให้บริการได้รับเงินสนับสนุนจาก สปสช.อยู่แล้ว จึงขอให้ผู้บริโภคอย่ายอมให้ตนเองโดนเอาเปรียบไม่ว่าจำนวนเงินจะมากหรือน้อยก็ตาม หากพบปัญหาผู้บริโภค ไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือ สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th หรือสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ทั้ง 20 จังหวัด ดูรายละเอียดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/