ไม่ผิดคาด! นายกฯ ปัดตกร่างกฎหมายบำนาญผู้สูงอายุเกือบหมดแผง ชี้เป็นบทเรียนเลือกตั้งครั้งต่อไป

ข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวสัดิการ ‘ไม่ผิดคาด’ นายกฯ ปัดตกร่างกฎหมายบำนาญผู้สูงอายุเกือบหมดแผง มองรัฐบาลมุ่งแจกเงินหมื่น อีกทั้งไม่อยากทำเรื่องนี้แต่แรกอยู่แล้ว รับเป็นบทเรียนไว้พิจารณาเลือกตั้งครั้งต่อไป

จากกรณีที่เว็บไซต์รัฐสภานำเสนอสถานะของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนอย่างน้อย 3 ฉบับจากทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. …. เสนอโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าฯ เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง และร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. …. เสนอโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ว่ามีสถานะ ‘นายกไม่รับรอง’ นั้น

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2568 นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา หนึ่งในผู้ริเริ่มผลักดันให้รัฐจัดสวัสดิการในรูปแบบของบำนาญประชาชน เพื่อมาเป็นหลักประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุในนาม ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ’ มาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์ว่า ‘ไม่แปลกใจกับผลที่ออกมาในครั้งนี้’ เพราะรัฐบาลนี้เพิ่งแจกเงินหมื่นให้ประชาชนตามนโยบายหาเสียง เขาย่อมไม่เอาบำนาญประชาชน มันไกลไป แต่ก็ทำให้ประชาชนที่สนับสนุนอยากมีบำนาญได้รู้ว่าเป้าหมายว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องการรัฐบาลแบบใด

“รัฐบาลชุดนี้มีแนวโน้มจะทำหวยเกษียณ ซึ่งเข้าทางเอาหวยขึ้นบนดิน หากอยากจะทำอย่างนี้ อยากให้รัฐบาลคิดเพิ่มอีกนิดหนึ่งว่า หากอยากสร้างหลักประกันให้คนสูงวัยจริงไม่จำเป็นต้องผูกกับพนัน แต่เอาเงินรายได้จากหวย ภาษีสรรพสามิตอื่นๆ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอีกบางส่วนมาเฉลี่ยให้เป็นบำนาญถ้วนหน้าก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ทันที” สุรีรัตน์ กล่า

ด้านนายสมวงศ์ อุไรวัฒนา หนึ่งในผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท ให้ความเห็นว่า การที่นายกฯ ไม่ให้คำรับรองร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับบำนาญประชาชนทั้ง 3 ฉบับ เป็นสิ่งที่ ‘ไม่เหนือความคาดหมาย’ เพราะรัฐบาลไม่ได้มีเจตนารมณ์ในเรื่องสวัสดิการของประชาชนอยู่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ไม่สนใจเรื่องของคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะคนที่เขาคิดว่าไม่ได้สร้างผลผลิตให้กับประเทศ และมองว่าเป็นภาระงบประมาณ

“อย่าไปหวังกับรัฐบาลชุดนี้ทั้งชุด วิธีคิดเขามีวิธีเดียวคือกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างที่บอกว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 1,000 บาท ถามก่อนว่าจะได้เมื่อไหร่ ผู้สูงอายุควรนำมาเป็นบทเรียนว่า ควรเลือกรัฐบาลแบบนี้หรือไม่” สมวงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับรวมถึงร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่เสนอโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีหลักการสำคัญตรงกันคือ การกำหนดให้รัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแบบรายเดือนให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปแบบถ้วนหน้า ในอัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค