3 เกณฑ์ ธนาคารต้องทำ ปล่อยสินเชื่อ ห้ามกระตุ้นคนก่อหนี้

“สมัครบัตรเครดิตวันนี้ ฟรี! กระเป๋าเดินทางพร้อมลุ้นเที่ยวเกาหลีฟรี สมัครง่าย อนุมัติไว!” คำโฆษณาเหล่านี้เป็นที่คุ้นหูเมื่อปัจจุบันมีหลาย ๆ ธนาคารหรือผู้ปล่อยสินเชื่อใช้แรงจูงใจ ลุ้น แลก แจก แถม เพื่อให้ผู้บริโภคสนใจและตัดสินใจสมัครสินเชื่อหรือกู้เงิน ซึ่งในอนาคตผู้บริโภคหลายคนที่ไม่มีความพร้อมอาจตกไปอยู่ในวงจรหนี้สินที่หาทางออกไม่เจอ

การโฆษณาปล่อยให้กู้สินเชื่อในลักษณะข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 91.4 หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 10 ปี ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภค แต่อาจจะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย

ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินภายใต้กำกับทุกแห่ง เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ดังต่อไปนี้

1. การโฆษณา การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์สินเชื่อและการทำการตลาด ต้องไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าการให้สินเชื่อนั้นจะไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของผู้บริโภค แต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องชี้ให้เห็นว่ามีการทำสินเชื่ออย่างรอบคอบ เช่น บอกอัตราดอกเบี้ยและชี้แจงอย่างชัดเจน บอกถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนสมัคร และต้องแจ้งถึงการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้

2. ห้ามธนาคารหรือสถาบันการเงินทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ เช่น “เพียงแค่สมัคร รับของขวัญทันที” ซึ่งเป็นการกระตุ้นหรือเร่งรัดการตัดสินใจให้สมัครสินเชื่อ

3. ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องแสดงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” ในโฆษณา ของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท เพื่อทำให้ผู้กู้มีพฤติกรรมการก่อหนี้อย่างเหมาะสม โดยขนาดตัวอักษร ต้องสามารถมองเห็นได้ชัดเจน และความเร็วในการอ่านออกเสียงต้องเท่ากับเนื้อหาอื่นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการโฆษณา

อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารหรือผู้ปล่อยสินเชื่อจะออกโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการเกิดหนี้ เมื่อกู้มาเยอะเท่าไร ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นเท่านั้น และควรเช็กสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภคเองก่อนที่จะสมัคร ที่สำคัญต้องอ่านเงื่อนไขอย่างละเอียด ดังนั้นก่อนสมัครสินเชื่อต่าง ๆ ต้องคิดอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

(ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และ สมาคมธนาคารไทย)

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค