“นิมิตร์” ชี้บริหาร รพ.รัฐหยุดคิดกำไรขาดทุน ส่วนงบไม่พอ “สธ.-สปสช.” ต้องขอเพิ่มรบ.

“นิมิตร์” รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้บริหาร รพ.รัฐหยุดคิดกำไรขาดทุน ส่วนงบไม่พอ “สธ.-สปสช.” ต้องขอเพิ่มรัฐบาล หวังจัดบริการให้กับประชาชนตามสิทธิประโยชน์ให้ดีที่สุด

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และรองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค โพสเฟซบุ๊คถึงประเด็น รพ.รัฐขาดทุน โดยระบุว่า โรงพยาบาลรัฐ เป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้มี เพื่อดูแลรักษาส่งเสริมป้องกันโรคให้กับ ประชาชนที่เจ็บป่วย …เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องทำ

“ดังนั้น ผมจึงมีคำถามว่า การบริหารโรงพยาบาลรัฐ ต้องคิดเรื่องกำไร ขาดทุน หรือไม่ ข้าราชการทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ รัฐจ่ายเงินเดือน ให้ตามตำแหน่ง และมีการปรับเงินเดือนให้ทุกปี ตามบัญชีตารางเงินเดือน ค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงซ่อมแซม รัฐก็จ่าย” และเมื่อประชาชนเจ็บป่วยไปรับการรักษา ก็มีระบบหลักประกันสุขภาพ ที่แต่ละคนมีสิทธิเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาล ราคาค่ารักษา ก็เป็นไปตามเกณฑ์ ที่แต่ระบบหลักประกันประกาศไว้ มากน้อยอย่างไร ก็เป็นที่ตกลงร่วมกัน

ตั้งแต่ต้นปี ในแต่ละปีงบประมาณ และในค่ารักษาของแต่ระบบหลักประกันก็จะมีค่าแรง รวมอยู่ในทุกรายการ ตามสัดส่วนที่ตกลงร่วมกันว่า ระบบจะจ่ายค่าแรงในสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์ ผู้บริหารโรงพยาบาลรัฐทุกระดับ ก็รับทราบตามประกาศ ของระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ รายรับที่โรงพยาบาลรัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อได้รับมา ก็จะส่งเข้าไปในบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล

ระบบการจ่ายเงินของระบบหลักประกันสุขภาพ มีวิธีการจ่ายหลายแบบ กรณีผู้ป่วยนอก ก็จะเหมาจ่ายไปให้ตามจำนวนประชากรที่ โรงพยาบาลดูแลอยู่ ซี่งเป็นจำนวนเท่าไร ก็ดูจากการเลือกของประชาชน และถ้าประชาชนไม่ได้เลือกก็จะถูกจัดเข้าไปโรงพยาบาลตามทะเบียนราษฎร์ ส่ววนผู้ป่วยใน โรงพยาบาลไหนรักษา ก็จะได้รับค่ารักษา ส่วนจะได้รับเท่าไร ก็จะได้ตามที่ในบริการ และเขียนเบิกไป ตามแบบฟอร์มที่มี ถ้าลงละเอียดตามที่ให้บริการ ก็จะเบิกได้ตามสิทธิที่ต้องได้ ส่วนเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ก็จะมีการจ่ายแบบทั้งเหมาจ่าย และ จ่ายตามบริการที่ทำ

ระบบการจ่ายเงินทั้งหมด ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ก็ มีส่วนเข้ามาออกแบบในทุกกระบวนการ

“ผมจึงคิดว่า การบริหารโรงพยาบาลรัฐ ควรต้องหยุดคิดเรื่องกำไรขาดทุน ส่วนเรื่องที่ว่างบไม่พอ ก็มาดูกัน และช่วยกันพูดคุยกับ รัฐบาลผ่าน รมว.สธ ดีมั้ย …กระทรวงสาธารณสุข รู้ว่า แต่ละรายบริการจะได้รับการค่าบริการจากบรรทัดไหน หมวดไหน ในระบบหลักประกันสุขภาพ หันมาช่วยกันจัดบริการให้กับประชาชนตามสิทธิประโยชน์ให้ดีที่สุดกันดีมั้ยครับ”

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค